กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่ป่วยใน 9 กลุ่มโรคและปัญหาสุขภาพเสี่ยง ที่อาจมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากทราบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่พร้อม หรือช่วงที่มีอาการ ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและเพื่อนร่วมทาง
วันที่ 9 มกราคม 2563 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารประจำทางชนท้ายรถรับส่งนักเรียนที่จังหวัดพิษณุโลก นั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้ขับขี่รถโดยสารประจำทางได้ฉีดยาเบาหวานในตอนเช้าแล้วไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วูบ และไม่ได้สติ จึงไม่สามารถควบคุมรถได้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากประชาชนทราบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่พร้อมที่จะไปขับรถ ไม่ควรขับรถเด็ดขาด เพราะไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อตนเอง ยังส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่ร่วมทางด้วย ซึ่งในแต่ละปีมีข่าวผู้ขับขี่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย เกิดอาการเฉียบพลันทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้
สำหรับโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ที่ประชาชนต้องระมัดระวัง มี 9 กลุ่มโรคและปัญหาสุขภาพเสี่ยง ได้แก่ 1.โรคที่เกี่ยวกับสายตาต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลากลางคืนแล้วมองไม่ชัด ส่วนคนเป็นต้อหินทำให้มุมสายตาแคบลง มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี และมองเห็นแสงไฟบอกทาง หรือไฟหน้ารถพร่าได้ 2.โรคทางสมองและระบบประสาท ที่ทำให้มีอาการหลงลืม การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี 3.โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้แขนขาไม่มีแรงขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรคหรือเปลี่ยนเกียร์ สมองสั่งให้แขนขาทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง 4.โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี 5.โรคลมชัก ในสภาวะที่ควบคุมอาการชักไม่ได้ จำเป็นต้องรับยาต่อเนื่องจนปลอดอาการของโรค และไม่เกิดอาการชักอย่างน้อย 1 ปีจึงจะปลอดภัยเพียงพอในการขับรถ
6.โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบปวดจากโรคเก๊าท์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลังจากกระดูกหลังเสื่อม ทำให้นั่งขับรถได้ไม่นาน 7.โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก วูบ หมดสติ ระหว่างขับรถ 8.โรคเบาหวานที่ควบคุมยังไม่ได้ ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการ หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า 9.การกินยาบางชนิด มีผลทำให้ง่วงซึมหรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ และทำให้การตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ช้า ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาที่กินมีผลต่อสมรรถนะในการขับรถหรือไม่
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากการมีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใน 9 กลุ่มโรคและปัญหาสุขภาพเสี่ยงดังกล่าว จำเป็นต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และช่วงที่มีอาการ ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและเพื่อนร่วมทาง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐหรือเอกชน ควรย้ำเตือน รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลดลงได้ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
…………………………………………..
ข้อมูลจาก: กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 9 มกราคม 2563