วันที่ 8 มกราคม 2562 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) แถลงข่าวและร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ หัวหน้าคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์เลขาธิการ กศน. นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ นายสุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นผู้ร่วมลงนามความร่วมมือ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า ต้องขอบคุณ พันธมิตร Good Partnerships ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) และสำนักงาน กศน. ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการดำเนินงานส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้วิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง และถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจดำเนินงานจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เรื่องที่ 7 การเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ข้อ 3.3 ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้ ขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. WOW 6 G คือ Good Teacher การพัฒนาครู กศน. และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการศึกษาและเรียนรู้ Good Place การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สวยงาม สะอาด ทันสมัยเอื้อต่อการเรียนรู้ Good Activity การส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลาย น่าสนใจ ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ Good Partnership การเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สามารถทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง Good Innovation การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและกลุ่มเป้าหมาย และGood Learning การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย
ดร.กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับโอกาสอันดียิ่งที่ สำนักงาน กศน. ได้ขับเคลื่อน นโยบาย กศน. สู่ กศน. WOW ในเรื่อง Good Partnership ที่จะเสริมสร้างการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงานที่มีความโดดเด่น มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยการพัฒนาและให้บริการนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พร้อมจะนำความรู้มาพัฒนางานด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ และวางรากฐานในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) มีบทบาทหน้าที่พัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งในด้านสะเต็มศึกษา ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) เป็นคลังความรู้ ศูนย์กลางข้อมูลในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. ได้มีพันธมิตร Good Partnerships ทั้ง 4 หน่วยงานเป็นภาคีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมาร่วมพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในสังกัด ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพสูง มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ควบคู่กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น จะทำให้เยาวชนและประชาชนชาวไทย ทั่วประเทศได้รับความรู้วิทยาศาสตร์ และมีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาประเทศชาติ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก อย่างยั่งยืน
นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 20 แห่ง สังกัดสำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งสร้าง “การรู้วิทยาศาสตร์ หรือ Science Literacy” ให้แก่คนไทยทั่วประเทศ โดยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ในรูปแบบของนิทรรศการ กิจกรรมการศึกษา และสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งสร้างความตระหนักรู้ สร้างกระบวนการคิดและปลูกจิตวิทยาศาสตร์ในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการขับเคลื่อน นโยบาย กศน.สู่ กศน. WOW ในเรื่อง Good Partnership ที่ทั้ง 5 หน่วยงาน คือสำนักงาน กศน. SEAMEO STEM-ED SEAMEO SEPS อพวช. และสวทช. มีเป้าหมายร่วมกันและจะดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แก่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศผ่านกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีภารกิจร่วมกันในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ การพัฒนาและปรับปรุงสื่อนิทรรศการในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ ให้มีความน่าสนใจ มีความสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และรองรับศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน การพัฒนากิจกรรมการศึกษาของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ ให้มีความสอดคล้องกับแนวนโยบายภาครัฐ และรองรับศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน การพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพในการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น ร่วมทำผังแม่บทการพัฒนาภาพลักษณ์ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
สำหรับการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้ร่วมลงนามดังนี้คือ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) นายสุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางตติยา ใจบุญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และนางกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
กรรณิกา พันธ์คลอง/ เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ : ภาพ/ ข่าว