สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกิดน้ำทะเลหนุน ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย กรมชลประทาน จึงวางแผนและดำเนินการบริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การลำเลียงน้ำจากคลองและแม่น้ำสายหลัก เร่งผลักดันน้ำเพื่อลดค่าความเค็มและผลกระทบด้านคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 7 มกราคม 2563 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำแม่กลอง ท่าจีน และเจ้าพระยา โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่และให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชน ณ สถานีวัดน้ำท่า C.29 A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ,ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 จ.พระนครศรีอยุทธยา ,โรงสูบน้ำดิบการประปานครหลวง(สำแล) จ.ปทุมธานี ,โรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์(คลองปลายบาง) จ.นนทบุรี และประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ได้ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบัน (7 ม.ค. 63 เวลา 07.00 น.) จุดเฝ้าระวังและควบคุมความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาที่โรงสูบน้ำดิบสำแลของการประปานครหลวง จ.ปทุมธานี ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.22 กรัม/ลิตร ซึ่งวานนี้ (6 ม.ค. 63)วัดค่าความเค็มสูงสุดได้ 1.10 กรัม/ลิตร(เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัม/ลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ส่วนที่ลุ่มน้ำท่าจีน บริเวณปากคลองจินดา ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.23 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัม/ลิตร) และลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองดำเนินสะดวก ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.15 กรัม/ลิตร สถานการณ์ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามภาวะการขึ้นลงของน้ำทะเล
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ค่าความเค็มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อผลักดันค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเร่งด่วน โดยดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ผ่าน 3 คลองหลัก เชื่อมมายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ คลองจรเข้สามพัน ลำเลียงน้ำผ่านประตูระบายน้ำสองพี่น้อง ในอัตราไม่น้อยกว่า 25 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำพระยาบันลือ สูบน้ำเข้าคลองพระยาบันลือ ที่ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไว้ในคลองรวม 54 เครื่อง ก่อนจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 จำนวน 12 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตราไม่น้อยกว่า 30 ลบ.ม./วินาที ด้านคลองประปา ลำเลียงปริมาณน้ำมาลงยังคลองปลายบาง โดยผ่านคลองประปาและคลองมหาสวัสดิ์ ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกด้านจะใช้คลองท่าสาร-บางปลา ลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำคลองจินดา เพื่อควบคุมค่าความเค็มสำหรับกล้วยไม้ ไม่ให้เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร
การดำเนินการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะต้องควบคุม ติดตาม และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำด้านค่าความเค็มของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้กระทบต่อน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาบริเวณโรงสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ของการประปานครหลวง ซึ่งมาตรการที่กล่าวมาข้างต้นจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำ จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเกิดประสิทธิภาพและลดการสูญเสียน้ำโดยปล่าวประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งจะทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลน
…………………………………………….
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7 มกราคม 2563