นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงการทำงานของศูนย์ “อาชีวะอาสา” ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ที่เปิดให้บริการตรวจสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ฟรี โดยให้บริการระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 2 มกราคม 2563 ช่วงเวลา 08.00-00.30 น. จำนวน 259 ศูนย์ บนเส้นทางสายหลักและสายรองทั่วประเทศ โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการสำรวจการใช้บริการของประชาชนในช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 2 มกราคม 2563 พบว่า มีรถเข้ารับบริการรวมทั้งสิ้น 39,619 คัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 24,765 คัน รถกระบะ/ปิกอัพ 8,086 คัน รถยนต์ 5,910 คัน รถตู้ 691 คัน และรถประเภทอื่น ๆ 137 คัน พร้อมทั้งการให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีเหตุเร่งด่วน การให้บริการรถยก รถลาก 30 คัน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนเข้าร่วมใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 46,925 คน แบ่งเป็น สอบถามข้อมูลเส้นทาง/การท่องเที่ยว 7,583 คน สอบถามข้อมูลร้านอาหาร 1,603 คน ข้อมูลโรงแรม/ที่พัก 635 คน ข้อมูลรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ศูนย์บริการอู่ซ่อมรถ 10,216 คน ที่นั่ง/ที่นอนพักผ่อน 10,827 คน เครื่องดื่ม (น้ำชา กาแฟ น้ำเย็น ฯลฯ) 12,073 คน นวดผ่อนคลาย 872 คน การชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ/กล้องถ่ายรูป 3,116 คน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับนักเรียน นักศึกษาอาชีวะที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริง และรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทำให้เกิดทักษะสังคม ทักษะชีวิต ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับทักษะอาชีพ และสร้างจิตอาสาให้เกิดขึ้นตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน พร้อมที่จะก้าวออกไปสู่โลกอาชีพด้วยความมั่นใจ
เลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า “จากการออกเยี่ยมศูนย์เพื่อตรวจสอบสภาพการปฏิบัติงานจริงและเพื่อให้กำลังใจ ครู และนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาที่ออกปฏิบัติงาน พบว่าประชาชนที่มาใช้บริการคือผู้ที่เดินทางกลับบ้านซึ่งอยู่ต่างจังหวัด และผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวมีทั้งผู้ที่เข้ามาใช้บริการโดยตรง และผู้ที่ประสบปัญหาระหว่างทางต้องให้ศูนย์อาชีวะอาสาออกไปรับรถมาดูแลอาการเบื้องต้น ก่อนส่งเข้าอู่ซ่อม บางรายก็เกิดจากน้ำมันเครื่องพร่อง ก็มีการเติมให้ หรือหม้อน้ำแห้ง ต้องรีบดำเนินการจัดเติม ตรวจเช็คร่องรอยการรั่ว ตรวจเช็คลมยางฯลฯ ซึ่งแต่ละกรณี ครูและนักศึกษาอาชีวะอาสาสามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด เพราะจะมีผู้ที่อยู่ทั้งกะกลางวันและกะกลางคืน ซึ่งนักศึกษาที่มาอยู่ประจำศูนย์เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ในระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์รถยนต์มากพอสมควร รวมถึงนักศึกษายังมีพี่เลี้ยงจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่ร่วมออกให้บริการร่วมกับโครงการอาชีวะอาสาด้วย และมีกรณีที่เป็นการซ่อมฉุกเฉิน ศูนย์อาชีวะอาสา วิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด ที่ตั้งอยู่ที่แยกป้อมตำรวจท่าศาลา ถ.เพชรเกษม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
ได้รับรายงานจากนายวีรภาพ สีแตง ครูหัวหน้างานโครงการพิเศษว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 16.00 น. ได้ให้บริการซ่อมรถยนต์ฉุกเฉินกับผู้มาใช้บริการ คือ นางบรรจง ชื่นชม ซึ่งเดินทางมาจาก จ.นครปฐม จะไป จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยอาการของรถ คือ ความร้อนขึ้นสูง มีน้ำดันออกมาจากหม้อน้ำ ไม่สามารถขับต่อไปได้ จึงให้รถ Fix it ของวิทยาลัยฯ ไปลากมา และนักศึกษาอาชีวะอาสา จำนวน 2 คน คือ นายนิรันดร์ เอี่ยมจันทร์ และนายทัศน์พล วาสนา นักศึกษา ระดับ ปวส. 1 สาขาช่างยนต์ ได้ทำการตรวจสอบ ปรากฏว่า รถหม้อน้ำตัน ฝาสูบโก่ง จึงต้องแวะพักโดยติดต่อไปที่อู่ซ่อมรถ ปรากฏว่าอู่ปิด และหากนำรถไปซ่อมจะต้องเปลี่ยนเครื่องซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 30,000 บาท จึงแนะนำว่าควรล้างหม้อน้ำ และเอาฝาสูบไปไสให้เข้ารูป เปลี่ยนประเก็นฝาสูบ ทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 บาท โดยที่นักศึกษาไม่ได้คิดค่าแรง แต่เต็มใจทำให้ ซึ่งเจ้าของรถยินยอมให้ทำ โดยใช้เวลาทำ 3 วัน ซึ่งนางบรรจงเจ้าของรถได้ขอบคุณและชมเชยว่า “ครูและนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด เป็นคนดีมีน้ำใจจริง ๆ ตอนเกิดเหตุตกใจมาก คิดอะไรไม่ออก มีคนแนะนำว่ามีศูนย์อาชีวะอาสาตั้งอยู่ใกล้ ๆ จึงไปตามมาให้ดูรถให้ ทั้งครูและนักศึกษาช่วยกันนำรถไปที่ศูนย์อาชีวะอาสา จัดที่นั่งพักให้ พร้อมทั้งหาน้ำเย็น กาแฟ และอาหารว่างมารับรอง แล้วบอกว่าไม่ต้องห่วงจะช่วยดูแลรถให้ รู้สึกซาบซึ้งจริง ๆ เวลาซ่อมจะสอบถามความสมัครใจทุกขั้นตอน เปรียบเทียบราคาให้ดูว่าทำแบบไหนเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร และมีรถจักรยานยนต์บริการเอาชิ้นส่วนไปซ่อม ถ้าวันนั้นไม่เจอศูนย์อาชีวะอาสา ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องขอบคุณทั้งครูและนักศึกษาที่เอาใจใส่เหมือนเป็นญาติคนหนึ่ง”
ทั้งนี้ ศูนย์ “อาชีวะอาสา” ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 มีผลสรุปการดำเนินงาน ดังนี้ สถานศึกษาที่มีรถเข้ามาใช้บริการมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ 130 คัน วิทยาลัยสารพัดช่างมหาสารคาม 117 คัน วิทยาลัยการอาชีพบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา 99 คัน วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ 78 คัน และวิทยาลัยการอาชีพหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 51 คัน รวมทั้งสถานศึกษาที่มีผู้ใช้บริการอื่น ๆ มากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ วิทยาลัยการอาชีพบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ 130 คน วิทยาลัยสารพัดช่างมหาสารคาม 117 คน วิทยาลัยการอาชีพบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา 99 คน วิทยาลัยการอาชีพหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 78 คน และวิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ 76 คน เลขาธิการ กล่าวปิดท้าย
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.