ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการ และมอบของขวัญสู้ภัยหนาวและอุปกรณ์กีฬาสู่น้องๆที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ชายขอบตามโครงการ “ศ.ค.ส. ศึกษาธิการส่งความสุข”พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน.นายกวินเกียรติ. นนท์พละ รองเลขาธิการ กช.ผู้แทนโตโยต้า นายกิตติ กฤตผลชัย ผู้จัดการเขตภาคเหนือ,นายสมโภช ลิมเล็งเลิศ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโตโยต้า ล้านนา จำกัด ผู้แทนจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา(แม่ฟ้าหลวง)บ้านห้วยปูแกง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และโรงเรียนพุทธเกษตร อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า “ ตนมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการลงพื้นที่มาจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันนี้ เพราะนอกเหนือจากการมาตรวจและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีในการเป็นสื่อกลางแทนความรักและความปรารถนาดีของผู้มีจิตอันเป็นกุศลในการส่งต่อความสุข ความปรารถนาดี ที่มีค่าไปถึงมือน้องๆ นักเรียน นักศึกษาผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบ โดยเฉพาะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ และมีความลำบากในการศึกษาและการดำรงชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะบรรเทาความหนาวเย็นของภูมิอากาศแก่เด็ก และเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ดังกล่าว แล้วยังเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจในการเติมเต็มความรัก และความอบอุ่น ให้มีรอยยิ้มที่สดใสให้กับพื้นที่ที่ห่างไกลอีกด้วย
กิจกรรมอันมีค่าในครั้งนี้จึงนับเป็นบุญแห่งความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่เราได้มอบให้กับน้องๆเยาวชน ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล รับความสุขในวันปีใหม่ร่วมกัน ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านด้วยใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านเป็นอย่างดีในโอกาสต่อไป”
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา(แม่ฟ้าหลวง)บ้านห้วยปูแกง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปูแกง ใช้รูปแบบจัดการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี 5 ด้าน ในการจัดการศึกษาชุมชนบนพื้นที่สูง หรือ ศศช.สังกัดสำนักงาน กศน.ประกอบด้วยกลุ่มคน 5 กลุ่มชาติพันธ์ ประกอบด้วยกะเหรี่ยงคอยาว กะเหรี่ยงกะยอ กะเหรี่ยงแดง และกะเหรี่ยงขาว เป็นหมู่บ้านที่มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมการสวมห่วงคอ กะเหรี่ยงคอยาวและกะเหรี่ยงกะยอ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมต่อเนื่อง รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว การรับจ้าง และการประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น ปลูกข้าวไร่ พริก และเลี้ยงสุกร ไก่ เพื่อประกอบพิธีกรรมด้านต่างๆตามความเชื่อ แต่ยังมีฐานะยากจน และขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน จากนั้นเดินทางต่อไปยังโรงเรียนพุทธเกษตร อำเภอขุนยวม อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(สช.) เป็นโรงเรียนสามัญศึกษาเอกชน ประเภทสงเคราะห์เต็มรูปแบบ มีลักษณะเป็นโรงเรียนประจำที่จัดการศึกษาให้แก่เด็กยากจนจาก 8 ชนเผ่าคือคนเมือง , อาข่า, ม้ง, พื้นราบ,กระเหรี่ยง,ไทยใหญ่, ลีซอ, จีนฮ้อ จากหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่,ลำปาง,เชียงราย,ตาก,พม่า และมีปัญหาในการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนอิเลคทรอนิค และขาดงบประมาณสนับสนุนอาหารสำหรับนักเรียนพักนอน
การตรวจราขการและมอบของขวัญ เครื่องนุ่งห่มและอุปกรณ์การเรียน เครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในครั้งนี้สร้างความสุข ให้แก่น้องๆนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่เป็นอย่างมาก นับเป็นกิจกรรมที่มีความสุข ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2563 กำลังจะมาถึงนี้!!
ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ,กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์
วิดีโอ: ณัฐวุฒิ วากะดวน