กระทรวงสาธารณสุขน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชนที่เดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ระดมทีม แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ เกือบ 2 แสน คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ รถกู้ชีพ ดูแลประชาชนช่วง 7 วันอันตราย เผยวันแรก ผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ประสบอุบัติเหตุร้อยละ 50 ดื่มแล้วขับ โทษจำคุก 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท
วันที่ 28 ธันวาคม 2562)ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการความปลอดภัยทางถนน ว่า รายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน วันที่ 27 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันแรกในช่วง 7 วันอันตราย (27 ธันวาคม 2562 ถึง 2 มกราคม 2563) เกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 466 คน เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง เมื่อเทียบกับปีใหม่ 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้น 45 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 45 ราย ลดลง 2 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 428 คน เพิ่ม 38 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 4 ราย บาดเจ็บสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี 22 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่จากเมาแล้วขับ ร้อยละ 30 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 80 เป็นรถจักรยานยนต์ รองลงมาเป็นรถกระบะ ถนนที่เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 39 เป็นถนนสายหลักของกรมทางหลวง รองลงมา เป็นถนนใน อบต./ หมู่บ้าน ร้อยละ 31 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 30 รองลงมา เวลา 12.01-16.00 น. ร้อยละ 31 ช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ อายุ 50 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 29 รองลงมาอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 18 ผลการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนและบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กรณีผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยวิธีเป่าทางลมหายใจได้ ในวันที่ 26 -27 ธันวาคม 2562 มีผู้ขับขี่ที่ถูกส่งไปเจาะเลือดทั้งหมด 199 ราย ทราบผล 52 ราย พบแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 26 ราย เป็นผู้ใหญ่ 21 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 5 ราย ทั้งนี้ บทลงโทษกรณีมีผู้บาดเจ็บจากดื่มแล้วขับจะมีโทษจำคุก 10 ปี และปรับสูงสุด 200,000 บาท
สำหรับการออกตรวจเตือนบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2555 ของกรมควบคุมโรค สุ่มตรวจสถานประกอบการ / ร้านค้ารวมทั้งสิ้น 2,078 แห่ง พบการกระทำผิด 22 คดี มากที่สุดได้แก่ โฆษณาส่งเสริมการตลาด การขายด้วยวิธีห้ามขาย (ลด แลก แจก แถม) ขายในเวลาห้ามขาย ได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกราย หากประชาชนพบการกระทำผิด เช่น ขายริมทาง ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือผู้ที่มีอาการมึนเมา ขายในเวลาห้ามขาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที
นายอนุทินกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในส่วนกลางและส่วนจังหวัด ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งมีความพร้อมดูแลประชาชน ทั้งการเพิ่มบุคลากร แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เกือบ 200,000 คน พร้อมห้องฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 ทีมและรถปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ พร้อมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับไว้แล้ว 8,336 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 21,878 คัน นอกจากนี้ได้เตรียมอากาศยานลำเลียงผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 15 ลำ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ และโรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผู้บาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) และให้เจ้าหน้าที่และ อสม. ในพื้นที่ทำงานเชิงรุก โดยร่วมตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในถนนสายรอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และจากการดื่มแล้วขับ