กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หนุนนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยลดระยะเวลาการรอคอยการเจาะเลือดและบริการทางห้องปฏิบัติการ ด้วยการวางระบบการเจาะเลือด การเก็บ   และการส่งตัวอย่างจากหน่วยบริการภายนอกโรงพยาบาลก่อนกำหนดวันพบแพทย์ โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 1 มกราคม 2563

นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะเร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ  มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน สร้างความพึงพอใจในคุณภาพการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการ        ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เน้นเพิ่มศักยภาพการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เหมาะสมกับบริบท ของแต่ละพื้นที่เขตสุขภาพ ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึง รวมทั้งการพัฒนาห้องฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและกำลังคนที่เพียงพอ ในส่วนของการลดความแออัดของบริเวณปริมณฑล ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาโรงพยาบาลโรงพยาบาลจตุรทิศ (เบญจทิศ) เพื่อจัดระบบการให้บริการลดความแออัดในเขตจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและนครปฐม มีการกำหนดแนวทางลดความแออัด การตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานนำร่อง ในวันที่ 1 มกราคม 2563

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  มีภารกิจเกี่ยวกับการกำกับดูแลมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ได้หาแนวทางการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล พบว่า ความแออัดในโรงพยาบาลจุดหนึ่งที่สำคัญคือระยะเวลาในการรอคอย การเจาะเลือดและบริการทางห้องปฏิบัติการ การเจาะเลือดใกล้บ้านที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสุขภาพ หรือคลินิกเอกชนก่อนนัดพบแพทย์จะสามารถลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลได้มากกว่า 2-5 ชั่วโมง โดยต้องมีการวางระบบในการเก็บตัวอย่าง การส่งตัวอย่าง การส่งข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ การกำกับดูแลมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้อง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำคู่มือหน่วยบริการเจาะเลือด/เก็บตัวอย่างนอกโรงพยาบาลและแบบประเมินมาตรฐานหน่วยเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล รวมทั้งจัดอบรมให้กับแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครปฐม เพื่อให้รับทราบและเข้าใจในการดำเนินการลดความแออัด ทางห้องปฏิบัติการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

**************************   ธันวาคม 2562