กรมชลประทาน ย้ำปีนี้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เหตุจากฝนตกต่ำกว่าค่าปกติในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา วอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(27 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 47,377 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,531 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,157 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,461 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,620 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (27 ธ.ค. 62) มีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 5,018 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 1,490 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
ส่วนแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 62) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 2.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผัก 0.12 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.54 ล้านไร่ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก
กรมชลประทาน ดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมจัดเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถยนต์บรรทุกน้ำ และเครื่องจักกลอื่นๆ รวม 2,175 หน่วย อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง รถบรรทุกน้ำและยานพาหนะอื่นๆ 324 คัน กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน อย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด หากประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโครงการชลประทานในพื้นที่ของท่านได้ตลอดเวลา
*****************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
27 ธันวาคม 2562