ธ.ก.ส.ทุ่ม 5 หมื่นล้านเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเครือข่ายกว่า 7 พันแห่งทั่วไทยสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หวังช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชุมชน เปิดตัวชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา ที่คว้ารางวัลท่องเที่ยวเชิงนิเวศดีเด่นระดับโลก โดดเด่นทั้งทรัพยากรธรรมชาติและความร่วมมือของคนในชุมชน เชื่อมเครือข่าย 35 ชุมชนท่องเที่ยวทั่วไทย เผยแค่ 2 เดือนแรกของปีบัญชี2561 ให้สินเชื่อเกษตรกรและธุรกิจเอสเอ็มอีไปแล้วจำนวน 6,464 ราย รวมเม็ดเงินกว่า 3 พันล้านบาท
อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา ในระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ การลดต้นทุนการผลิต และการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง จำนวนทั้งสิ้น 7,927 ชุมชน และมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 77 ศูนย์ รวมถึงได้มีการต่อยอดชุมชนที่มีศักยภาพ และความโดดเด่น ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรม ไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เกิดการกระจายรายได้ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความรักความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยในปี 2561 ธ.ก.ส.มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การเป็นชุมชนอุดมสุขใน 4 มิติ คือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านประเพณีวัฒนธรรม จำนวน 800 ชุมชน พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน 35 ชุมชน
ทั้งนี้ ในการดำเนินงาน ชุมชนจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทั้งด้านทรัพยากร การพัฒนาอาชีพ การรวมกลุ่ม และการเชื่อมโยงธุรกิจไปยังชุมชนใกล้เคียง โดย ธ.ก.ส.จะคอยเติมเต็มในส่วนที่ขาด เช่น การสนับสนุนเงินทุน การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน
การสนับสนุนการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมโยงกับส่วนงานภายนอก ในการนำองค์ความรู้ต่างๆเข้ามาช่วยพัฒนา เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนวิชาการด้านพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เข้าสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ของชุมชน เช่น การสร้างระบบการจองที่พัก แพ็กเกจท่องเที่ยว เป็นต้น
“สำหรับชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย” เป็นหนึ่งใน 35 ชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยว ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ มีสัตว์ป่าและนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกเงือก ที่มีความสวยงามและหาดูได้ยาก โดย ธ.ก.ส ได้ร่วมสนับสนุนโครงการอนุรักษ์นกเงือกเกาะยาว เพื่อดูแลป้องกัน ไม่ให้นกเงือกสูญหายไปจากเกาะ สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนธนาคารปูม้า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กับท้องทะเล ชายฝั่งอันดามันบริเวณเกาะยาวน้อย โดยนำไปปรับปรุงกระชังการเพาะเลี้ยง และมอบให้คณะกรรมการชุมชน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการรับซื้อปูม้าไข่นอกกระดอง”ผจก.ธ.ก.ส.เผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารปูม้าชุมชนบนเกาะยาวน้อย
อย่างไรก็ตามในส่วนของการประกอบอาชีพ ชุมชนเกาะยาวน้อย มีวิถีชีวิตเป็นชาวประมง จึงมีการสร้างงานจากการแปรรูปอาหารทะเล การเลี้ยงปลาและกุ้งมังกรในกระชัง เมื่อมี การพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวได้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลิตสินค้าและบริการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น การทำผ้าบาติก ที่พักแบบโฮมสเตย์ การนำเรือประมงมาปรับเป็นเรือบริการนำเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆ บริการรถรับส่งสาธารณะภายในเกาะ เป็นต้น ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเกาะยาวไปแล้ว จำนวน 2.39 ล้านบาท
อภิรมย์เผยต่อว่านอกจากนี้ธ.ก.ส.ยังมีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่มีขีดความสามารถในการผลิต การแปรรูป ยกระดับเป็นผู้ประกอบการ SME เกษตรหรือ SMAEs เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร และดึงความมั่งคั่งให้กลับคืนมาสู่ภาคการเกษตร โดยสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ปีที่ 1-3 ร้อยละ 4 ต่อปี และปีที่ 4-10 ในอัตรา MRR-2/ MOR ตามประเภทผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี และ MOR เท่ากับร้อยละ 7.125 ต่อปี) ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวแล้วจำนวน 65,055 ล้านบาท ช่วยสร้างผู้ประกอบการด้านการเกษตรไปแล้ว 74,259 ราย ทั้งนี้ในปีบัญชี 2561 ธ.ก.ส.ยังพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เกษตร อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีบัญชี 2561( 1 เมษายน -31 พฤษภาคม 2561) ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SME เกษตรไปแล้ว 6,465 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 3,464 ล้านบาท
สำเริง ราเขตหรือที่รู้จักในนาม“บังหมี” ประธานชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา กล่าวสำหรับเกาะยาวน้อย เป็นเกาะในอ่าวพังงา ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะอื่น ๆ อีก 44 เกาะ ชาวบ้านประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ทั้งเพื่อการบริโภคและส่งออกเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงตัวเองและครองครัว ในราวปี 2538 เกาะยาวน้อยได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีผู้มาเยือนมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ทรัพากรธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการดัดแปลงพื้นที่เพื่อเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว จึงมีปัญหาขยะ น้ำเสียเกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่ถ้าขาดการวางแผนก็จะทำให้ไม่ยั่งยืน จากนั้นชาวเกาะยาวน้อย จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง“ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย”ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่และวางแผนในการเจริญเติบโตและทิศทางของการท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อยด้วยตัวของเขาเอง
“ก่อนจะมาชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย เราก็ได้ไปศึกษาดูมาหลายที่ ไม่ว่าจะที่สมุย เกาะช้าง เกาะพีพี ไปเห็นความเสื่อมโทรมของที่นั่นแล้วเราจะเดิมตามเขาอีกหรือ นี่คือโจทย์ที่นำมาถามชาวชุมชน จึงต้องปรับเปลี่ยนใหม่เน้นการใช้ทรัพยากรในชุมชนที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่องเที่ยวอยู่ได้ แต่ต้องไม่ทำลายธรรมชาติสรา้งปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมในชุมชนของเรา ผลจากความร่วมมือร่วมใจทำให้เราได้รับรางวัลมากมายทั้งจากในและต่างประเทศ”ประธานชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อยกล่าวในวงเสวนา
อย่างไรก็ตามผลจากความสำเร็จทำให้ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อยได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายอาทิปี 2545 ได้รับรางวัล World Legacy Award จากนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สหรัฐอเมริกา ปี 2548-2561 รางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ปี2552 รางวัลยอกเยี่ยมทีวร์รีสซึมอวอร์ท จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี2559 รางวัลโฮมสเตย์ยอดเยี่ยมอาเซียนและปีนี้(2561)เพิ่งคว้ารางวัลการท่องเที่ยวยั่งยืนอาเซียน(ASTA)ประเภทชนบท เกาะยาวน้อย จ.พังงามาได้สำเร็จ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการชุมชนด้วยคนในชุมชนเองโดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนสืบไป
จาก“กะตัก”สู่ปลาฉิ้งฉ้าง ผลิตภัณฑ์ทำเงินชาวบ้านเกาะยาวน้อย
“กะตัก” จากปลาที่ไร้ค่ากลายมาเป็นปลาทำเงินหลังชาวบ้านเกาะยาวน้อย จ.พังงา นำมาแปรรูปเป็นปลาฉิ้งฉ้างส่งออกไปยังมาเลเซีย โดยผ่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจผลิตและส่งออกปลาฉิ้งฉ้างผลิตภัณฑ์ชื่อดังของเกาะยาวน้อยที่ชื่อ “ละออง เบ็ญอ้าหมาด” แห่ง ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการแปรรูปปลาฉิ้งฉ้าง ถือเป็นแบบอย่างธุรกิจ SMAEs ที่นำเอาปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่มีมูลค่า มาสร้างเป็นสินค้าที่ควรค่าแก่การบริโภคจนสามารถส่งจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ มีการรับซื้อปลาจากชาวประมง มีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ทำให้มีรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก และช่วยแก้ปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาล
ละออง อธิบายถึงกระบวนการผลิตปลาฉิ้งฉ้างว่าหลังจากออกทะเลไปจับปลากะตัก เมื่อจับมาได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการต้มทันทีบนเรือเพื่อเป็นการถนอมปลาให้สดใหม่อยู่เสมอก่อนจะนำเข้าสู่โรงงานผลิต จากนั้นก็จะนำมาเข้าสู่ตู้อบนาน 4-6 ชั่วโมงในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส ก่อนจะนำออกมาเข้าสู่เครื่องคัดแยกขนาดแล้วนำไปบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป สนนในราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาทขึ้นอยู่กับขนาดของปลา ยิ่งตัวเล็กราคาจะยิ่งแพง ส่วนปลากะตักที่นำมาผลิตจะมี 2 ชนิดคือลักษณะตัวแบนกับตัวกลม โดยตัวแบนนั้นจะมีราคาที่สูงกว่าตัวกลม จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มตลาดระดับบน
ปัจจุบันปลาฉิ้งฉ้างที่ผ่านกระบวนการผลิตในแต่ละวันได้ใช้วัตถุดิบจากปลากะตักประมาณ 2 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่จับได้บริเวณรอบเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ จากเรือประมงของครอบครัวที่อยู่จำนวน 6 ลำ นอกจากนั้นรับซื้อลูกปลากะตักจากชาวบ้านในพื้นที่เพื่อนำมาผลิตปลาฉิ้งฉ้าง โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 80 ล้านบาทต่อปี
ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก