กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่กินเลี้ยงหรือทำอาหารกินเองในครอบครัว ช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
วันที่ 24 ธันวาคม 2562 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหลายวัน มักกินอาหารหรือทำอาหารกินเองในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนๆ ขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการทำอาหารและกินอาหารในช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส อันตรายอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 ธันวาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 374 ราย เสียชีวิต 31 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ (ป่วย 264 ราย เสียชีวิต 22 ราย) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 71 ของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั้งหมด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร น่าน และแพร่ ตามลำดับ
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา ที่มีเชื้ออยู่ หลังรับประทานหรือสัมผัส 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ จนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีการป้องกัน คือ 1. ควรบริโภคอาหารที่สุก ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรผ่านการปรุงสุกที่ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ หากกินอาหารปิ้งย่าง เช่น หมูกะทะ กุ้งกะทะ ขอให้ปิ้งให้สุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบ และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
………………………………………
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค