ท่อประปาเป็นช่องทางสำคัญในการลำเลียงน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยจากการประปานครหลวง (กปน.) ไปสู่บ้านผู้ใช้น้ำ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนท่อประปาเมื่อใกล้หมดอายุใช้งาน หรือวางท่อประปาใหม่ในบางพื้นที่ที่มีการขยายเขตบริการ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า ใต้ทางเท้าหรือถนนที่เราสัญจร มีระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่อร้อยสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ท่อประปา ท่อระบายน้ำ รวมทั้งโครงสร้างอื่น ๆ ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างวางท่อประปาใหม่ กปน. จึงได้พัฒนากระบวนงานวางท่อประปาในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็วแม่นยำ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด
กปน. มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่ให้บริการงานประปา มีธรรมาภิบาล และได้มาตรฐานในระดับสากล จึงได้จัด โครงการประกวดผลงานเพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม การพัฒนากระบวนงาน และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ และในปี 2561 มีผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือผลงาน “แนวท่อเบี้ยว เราเลี้ยวได้” ซึ่งเป็นการทำท่อโค้งดัดแปลงด้วยการสร้างภาพคลี่ท่อ หรือการเขียนแบบแสดงรายละเอียดของพื้นผิวของท่อ ด้วยการคลี่ด้านทุกด้านออกมา เพื่อทำชิ้นส่วนของโค้ง ก่อนนำมาประกอบเป็นท่อโค้งตามองศาที่ต้องการ ทำให้การบรรจบท่อในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ที่มาที่ไปของผลงานนี้สืบเนื่องมาจากปัจจุบัน กปน. มีงานก่อสร้างวางท่อประปาหลายโครงการ อาทิ โครงการขยายเขตบริการน้ำประปาให้เต็มพื้นที่ทั่วชุมชนเมือง การก่อสร้างวางท่อประปาใหม่ทดแทนท่อประปาเดิมที่ใกล้หมดอายุ เป็นต้น ล้วนก่อสร้างในทางเท้าหรือผิวจราจร ซึ่งบางพื้นที่เต็มไปด้วยระบบสาธารณูปโภค ทำให้การวางท่อประปาเป็นไปได้ยาก เพราะต้องหลบเลี่ยงโครงสร้างต่าง ๆ อีกทั้งท่อโค้งตามมาตรฐานยังมีมุมที่จำกัด เช่น บางแห่งต้องใช้ท่อโค้ง 30 องศา ถึงจะบรรจบได้พอดี ขณะที่ท่อโค้งมาตรฐานมีขนาด 45 องศา จึงต้องดัดแปลงท่อโค้งมาตรฐาน เพื่อเชื่อมต่อท่อที่ไม่ได้อยู่ในแนวหรือระดับเดียวกัน หรือมีหน้าตัดที่อยู่คนละระนาบ ซึ่งต้องใช้เวลาและความชำนาญอย่างมาก เพราะถ้าแนวท่อไม่แนบสนิทพอดี ท่อจะแตกรั่วเร็วกว่าอายุใช้งานจริง ส่งผลกระทบต่อการสูบจ่ายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่
ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงพัฒนากระบวนงานทำท่อโค้งดัดแปลง โดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เช่น ตรีโกณมิติและเรขาคณิต รวมทั้งหลักการเขียนแบบแผ่นคลี่ มาบูรณาการร่วมกัน ทำให้การสร้างท่อโค้งดัดแปลงเป็นไปตามมาตรฐานและเอียงทำมุมที่ต้องการ ส่งผลให้ท่อทั้งสองด้านบรรจบกันได้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานโดยเริ่มจากเก็บข้อมูลหน้างานในบริเวณที่จะบรรจบท่อ เช่น เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกท่อ แนวศูนย์กลางท่อที่วางใหม่และท่อเดิมที่จะบรรจบ องศาโค้งที่ต้องการ ฯลฯ หาจำนวนชิ้นงานที่ใช้ประกอบเป็นท่อโค้งดัดแปลง คำนวณหารัศมีความโค้งและความยาวของชิ้นงานในแนวกึ่งกลาง วาดรูปชิ้นงานในสเกล 1 : 50 นำรูปชิ้นงานมาเขียนภาพแผ่นคลี่ท่อเท่าขนาดจริง นำภาพแผ่นคลี่ท่อไปทาบกับท่อจริงเพื่อตัดชิ้นงาน จากนั้นเชื่อมชิ้นงานแต่ละชิ้นเป็นท่อโค้งดัดแปลง
กระบวนการดังกล่าว นอกจากจะทำให้การก่อสร้างวางท่อประปาในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัดง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาดแคลนน้ำหรือปิดการจราจร เนื่องจากการบรรจบท่อแล้วเสร็จเร็วขึ้น อีกทั้งจุดบรรจบยังแนบสนิทแข็งแรง แตกรั่วยาก จึงไม่จำเป็นต้องปิดการจ่ายน้ำหรือปิดถนนเพื่อซ่อมแซม ส่งผลให้การสูบจ่ายน้ำมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ กปน. ยังคงคิดค้นหากระบวนงานใหม่ ๆ ทั้งด้านผลิตและบริการ เพื่อให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภคน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย อย่างทั่วถึง เพียงพอ และมั่นคง
**********************************