กรมสุขภาพจิต เดินหน้าสานต่อนโยบายรับยาจิตเวชใกล้บ้าน ใกล้ใจ สะดวก ไม่ต้องรอนาน

วันนี้ (23 ธันวาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เป็นโครงการที่ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มเปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 โดยในช่วงต้นของโครงการจะดูแลผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และโรคทางจิตเวช ยาที่ผู้ป่วยจะได้รับจากร้านยาจะเป็นยาที่จัดส่งมาจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นยารายการเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอำนวยความสะดวก และเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินงานตอบสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในโครงการกระจายผู้ป่วยรับยาจิตเวชที่ร้านขายยา เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนและระบบเชื่อมต่อบริการระหว่างร้านขายยากับโรงพยาบาลจิตเวช และพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในระดับตติยภูมิ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มโรคหลัก คือ โรคจิตเภท วิตกกังวล ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และแพทย์อนุญาตให้รับยาเดิม โดยการรับยาในครั้งแรกจะรับจากโรงพยาบาล และครั้งถัดไปจะรับใบนัดเพื่อรับยาที่ร้านยาต่อเนื่อง เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเภสัชกรร้านยาจะติดตามผลการรักษาจากการประเมินอาการของโรค ประเมินอาการข้างเคียงจากยา และความร่วมมือในการใช้ยา หลังจากนั้นแพทย์ที่โรงพยาบาลจะนัดติดตามผลการรักษาทุก 6 เดือน ซึ่งผลลัพธ์สุดท้าย จะช่วยลดปัญหาการรอคิวได้ 10% ภายใน 6 เดือน และช่วยลดการรอคิวได้ 20% ภายใน 1 ปี รวมทั้งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล จากระยะเวลามารักษาที่โรงพยาบาล เฉลี่ยรวม 2 ชั่วโมง 30 นาที หากรับยาที่ร้านยา จะใช้เวลาเฉลี่ยรวมแค่ 20 นาที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากขึ้นไม่ต้องรอนาน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า รพ.จิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตที่เข้าร่วมโครงการกระจายผู้ป่วยรับยาจิตเวชที่ร้านยา รวมทั้งหมด 14 โรงพยาบาล ได้แก่ ภาคเหนือ 3 รพ. คือ รพ.สวนปรุง, รพ.จิตเวชพิษณุโลก และรพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ภาคกลาง 3 รพ. คือ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์, รพ.ศรีธัญญา และสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ภาคใต้ 2 รพ. คือ รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และรพ.สวนสราญรมย์ ภาคตะวันออก 1 รพ. คือ รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 รพ. คือ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์, รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์, รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์, รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และรพ.พระศรีมหาโพธิ์ โดยมีร้านยาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 117 ร้านยา และปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการแล้ว 68 ราย โดยมีรพ.ที่ได้ทำการเปิดตัวโครงการนี้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 11 รพ. และจะทยอยเปิดตัวจนครบทุกรพ. ภายในวันที่ 27 ธ.ค.นี้


ทางโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ได้จัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานการกระจายผู้ป่วยจิตเวชรับยาที่ร้านขายยาสำหรับโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาระบบบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยจิตเวชในระดับปฐมภูมิ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือดาวน์โหลดคู่มือนี้ได้ที่ www.pharmcare.dmh.go.th เพื่อให้รพ.ได้นำองค์ความรู้ไปดำเนินงานขับเคลื่อนตามแนวทางในคู่มือ รวมถึงขยายองค์ความรู้ในเขตบริการสุขภาพที่รับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชด้านการใช้ยาอย่างต่อเนื่องและผู้ป่วยเกิดความสะดวกในการรับยาใกล้บ้านใกล้ใจ บูรณาการพัฒนาระบบงานเภสัชกรรมในร้านขายยาให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพของประชาชนในด้านการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพการดูแลการใช้ยา และมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพ เพื่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและประชาชนที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้จัดการระบบด้านสารสนเทศ และเภสัชกรของโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศในการให้บริการแก่ผู้ป่วย ให้มีความสะดวกรวดเร็วและคล่องตัว ระหว่างโปรแกรม Pharmcare transition กับระบบสารสนเทศ (Hospital Information System : HIS) ของทุกโรงพยาบาลในสังกัด และเพื่อเพิ่มสมรรถนะเภสัชกรร้านยาในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

——————————————————-