นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมและสำรวจพื้นที่สร้างคอกกลาง และคอกกักโคในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ จ.ลำปาง จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน เพื่อเตรียมรองรับโคขุนตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และตรวจเยี่ยมสถานที่ขนถ่ายโคทางเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พร้อมกันนี้ได้ตรวจเยี่ยมฟาร์มโคขุน 4×4 ของนายมนูญ ภูกันงาม โดยมี นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และเกษตรกรจำนวน 200 คนเข้าร่วม ณ ฟาร์มโคขุน 4×4 หมู่ที่ 4 บ้านหนองสีแจ่ง ต.ศรีเมืองชุ่ม อ.แม่สาย จ.เชียงราย
นายประภัตร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่าง กรมปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส.ในการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง ให้กับพี่น้องเกษตรกร จ.เชียงราย ได้รับทราบและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งจากการสอบถามความต้องการของเกษตรกร ส่วนใหญ่มีความต้องการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากมีรายได้ดีและเป็นอาชีพที่ทำกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำให้เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการทุกคนต้องมีความตั้งใจจริง โดยต้องรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท/ปี เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในการส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น จะต้องมีคอกกักเพื่อการส่งออก เพื่อรองรับโคประมาณ 1,000 ตัว/คอก ซึ่งจะต้องเป็นสถานกักสัตว์ที่มีองค์ประกอบที่ผ่านเกณฑ์พื้นฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด และได้รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (GOOD AGRICULTURAL PRACTICE FOR BEEF CATTLE FARM) จาก มกอช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้าด้านการควบคุมโรค และด้านมาตรฐานคอกกัก ให้เชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ไทย
“ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้โรคระบาดแพร่กระจายไปได้รวดเร็ว คือการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ดังนั้นคอกกลางและคอกกักจะต้องได้มาตรฐาน ปลอดโรค โดยแต่ละจังหวัดต้องมีคอกกลางเพื่อรวบรวมโคนำมาเลี้ยงขุน แล้วทำการจำหน่ายต่อให้กับผู้ประกอบการคอกกักเพื่อการส่งออกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ โดยคอกกักจะทำการเลี้ยงโคต่อประมาณ 60 วัน เพื่อให้ได้น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม พร้อมทำการกักโรค ตรวจสุขภาพ และจัดทำเอกสารเคลื่อนย้าย ปัจจุบันธุรกิจส่งออกโคและกระบือมีชีวิตลุ่มน้ำโขงผ่านชายแดน อ.เชียงแสน มีมูลค่าการค้าค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงเตรียมพัฒนาพื้นที่ อ.เชียงแสน จัดตั้งเป็นศูนย์กลางคอกกักเพื่อการส่งออกของประเทศ ที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ต่อไป” นายประภัตร กล่าว