กระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ พัฒนา Young Smart Farmer หวังปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินงานของเครือข่าย Young Smart Farmer 17 จังหวัดภาคเหนือ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงสับปะรดสีและไม้ประดับหายาก ณ ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่ (ศูนย์เครือข่าย) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เริ่มดำเนินโครงการ Young Smart Farmer (YSF) ตั้งแต่ปี 2557 มีการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การเป็น Young Smart Farmer ด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน Young Smart Farmer ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2,822 ราย จากทั้งสิ้น 17 จังหวัดภาคเหนือ

“กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังจะสร้าง Young Smart Farmer ให้เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย จะต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา Young Smart Farmer ให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งต้องหาช่องทางการตลาดที่ชัดเจน มีการตั้งเป้าหมายที่เป็นเป้าหมายเดียวกันและต้องเดินไปให้ถึง ซึ่งการทำการเกษตรนั้นจะต้องมีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และผลิตตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งต้องมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเข้ามาอยู่ในกระบวนการการผลิตด้วย ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดํารง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงการ Young Smart Farmer 4 ขั้น คือ 1) Getting Idea เพื่อปรับ Mind set ของเกษตรกรรุ่นใหม่ในกระบวนการพัฒนาสู่การเป็น Young Smart Farmer ซึ่งดำเนินการโดยจังหวัด จำนวน 3 ครั้ง ๆ ละ 2 วัน เมื่อครบ 3 ครั้งจะมีการประเมินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เพื่อเป็น Young Smart Farmer 2) Set up project เพื่อพัฒนา Young Smart Farmer ให้มีความรู้และทักษะในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงการตลาดในรูปแบบที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าสูงสุด ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ครั้ง ๆ ละ 4 วัน และยังเป็นเวทีเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับเขต เพื่อเป็นการนำผลงานและผลิตภัณฑ์เด่นของแต่ละจังหวัดมาจัดแสดง และจำหน่าย พร้อมเชื่อมโยงกันทั้งด้านความรู้ การผลิต การตลาด จนไปถึงการทำมาตรฐานเพื่อการส่งออก 3) Start up เพื่อพัฒนา Young Smart Farmer ที่ผ่านกระบวนการทั้งระดับจังหวัดและเขตแล้ว และมีความพร้อมในการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร และ 4) Go to global ในขั้นตอนนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาให้ Young Smart Farmer ที่มีความพร้อมพัฒนาเพื่อส่งออกผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่อไป

สำหรับกิจกรรมที่เป็นจุดเด่นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงสับปะรดสีและไม้ประดับหายากนี้ คือ 1) การผลิตและพัฒนาสายพันธ์สับปะรดสี (ไม้ประดับ) เพื่อการส่งออก 2) การรวบรวมจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและอำนาจการต่อรอง เพื่อลดปัญหาการตัดราคากันเอง 3) การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตไม้ประดับและรวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ และ 4) การเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อก้าวให้ทันโลกปัจจุบันและรักษาสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการทำเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ

…………………………………..