รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์ติดตามโครงการส่งเสริมสมาชิก ปลูกข้าวโพดหลังนาปีการผลิต 2562/63

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมเสริมสหกรณ์  ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ตามโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2562/63 ของสหกรณ์การเกษตรนิคมฯ บางระกำ จำกัด  จังหวัดพิษณุโลก และสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

สหกรณ์การเกษตรนิคมฯ บางระกำ มีสมาชิก 2,439 คน มีทุนดำเนินงาน 62,226,980 บาท เป็นสหกรณ์หลักระดับอำเภอ 1 ใน 9 สหกรณ์ของจังหวัดพิษณุโลกที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2562/63 โดยได้ร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิว จำกัด ในการส่งเสริมสมาชิกปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 141 ราย พื้นที่เพาะปลูก 2,555 ไร่ ซึ่งเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2562 และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในวันที่ 5 มีนาคม – 9 เมษายน 2563 โดยในปีการผลิต 2561/62 ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้รวบรวมข้าวโพดจากสมาชิกเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ซึ่งเป็นคู่ค้า จำนวน 8,226.07 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50.2 ล้านบาท

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีสมาชิก 458 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์และทำไร่ข้าวโพด เป็นสหกรณ์นำร่องในการส่งเสริมสมาชิกปลูกข้าวโพดหลังนา เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง และส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย สหกรณ์สามารถดูแลสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยว รวบรวมผลผลิตไปจนถึง การจัดหาตลาดรองรับผลผลิตของสมาชิก โดยฤดูกาลผลิตข้าวโพดปี 2562/63 มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 ราย พื้นที่เพาะปลูก 2,000 ไร่  เมื่อแรกเริ่มที่สมาชิกเข้าร่วมโครงการนี้ ทางสหกรณ์ได้สนับสนุนเงินทุนในการจัดหาปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย การเตรียมดิน ตลอดจนให้คำแนะนำในการบำรุงรักษา การป้องกันแมลงศัตรูพืช ส่วนการเก็บเกี่ยว สหกรณ์ได้จัดหารถเกี่ยวของสมาชิกที่เป็นเครือข่ายกับสหกรณ์พื้นที่ใกล้เคียงมาบริการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดให้กับเกษตรกร โดยสหกรณ์จะรับซื้อข้าวโพดจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ด้วย และยังได้จัดหาตลาดโดยทำบันทึกข้อตกลง กับบริษัท กรุงเทพโปรดิวส์ จำกัด และบริษัท เบทาโกร รวมทั้งมีการเจรจาตกลงกับคู่ค้าอื่น ๆ ได้แก่ สหกรณ์โคขุนปางศิลาทอง จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร บริษัท สหฟาร์ม และฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นคู่ค้าในการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากสหกรณ์เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์

โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ได้เยี่ยมชมการสาธิตกระบวนการรับซื้อ การสีข้าวโพด และปรับปรุงคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งกล่าวกับเกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการใช้สารเคมี เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีความปลอดภัย พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรกลทางเกษตรในการกำจัดวัชพืช อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ ระบบสหกรณ์จะช่วยให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถมีอำนาจในการต่อรองผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังทำให้สมาชิกมีแหล่งรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นางสาวมนัญญา กล่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการนี้เมื่อปีที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้สหกรณ์เข้าไปส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ลดพื้นที่ทำนาปรังหันมาปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและต้นทุนต่ำกว่าการทำนา พร้อมทั้งได้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปให้การสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้ ตั้งแต่การเตรียมดิน การดูแลพื้นที่เพาะปลูก สนับสนุนเครื่องจักรกล ทางการเกษตร ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมทั้งประสานกับบริษัทเอกชน ซึ่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ทำข้อตกลง  ในการรับซื้อข้าวโพดและเข้ามาเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดจากสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการทำนา เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและมีการกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจน รวมถึงเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สามารถปลูกได้ผลดีในช่วงหน้าแล้ง

ทั้งนี้ กรมฯ ได้สำรวจสหกรณ์ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการปีนี้ และย้ำว่าต้องเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ ต่อการเพาะปลูก และเกษตรกรต้องลงมือปลูกข้าวโพดไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2563 เพื่อจะเก็บเกี่ยวได้ทันในช่วงฤดูแล้ง เบื้องต้น มีสหกรณ์สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา 156 สหกรณ์ ใน 33 จังหวัด สมาชิก 21,392  ราย พื้นที่ประมาณ 156,203 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 1.5 – 2 แสนตัน และมีสหกรณ์ที่ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 74 สหกรณ์ สมาชิกประมาณ 13,971 ราย กรมฯ จึงได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์วงเงิน 100 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ไปให้สมาชิกลงทุนช่วงเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูก และจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อบริการสมาชิก โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1%

ส่วนการทำสัญญารับซื้อข้าวโพดล่วงหน้าระหว่างสหกรณ์กับบริษัทเอกชน จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 – 15 มกราคม 2563 และคาดว่าจะเริ่มรวบรวมผลผลิตส่งให้บริษัทคู่ค้าตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป  ขณะที่รัฐบาลได้มีการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 ที่ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่  และยังเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร  ปี 2562/63 วงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อนละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน วงเงินชดเชย 45 ล้านบาท ซึ่งทาง ธ.ก.ส.เป็นผู้จัดสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสากิจชุมชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และหรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมและรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจำหน่ายต่อ แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก

………………………………………………