รมว.แรงงาน เผย กรณีสหรัฐฯ จัดอันดับค้ามนุษย์ประเทศไทยดีขึ้น จาก Tier 2 Watch List มาเป็น Tier 2 ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย เกิดเสถียรภาพต่อรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ชี้ มุ่งมั่นขจัดการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจังต่อไป
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TiP Report) ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งตรงกับ 02.00 น.ตามเวลาของประเทศไทยในวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โดยในปีนี้สหรัฐฯ ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 2 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 2552 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่สูงขึ้นดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล อาทิ เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้รับการพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และธนาคารโลก (The World Bank) รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ขณะเดียวกันยังส่งผลดีต่อการค้าของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกคู่ค้าได้มากขึ้น เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่สินค้าไทยเพื่อการส่งออก เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าไทยไม่มีการผลิตจากการใช้แรงงานบังคับหรือการค้ามนุษย์ ตลอดจนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
“รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทุ่มเทบูรณาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ยุติธรรม คมนาคม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะยังมุ่งมั่นขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจังต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมามีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิแรงงานทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติของแรงงาน การขับเคลื่อนนโยบาย การตรวจแรงงานอย่างเข้มข้นเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน วางระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ”พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าว
ในท้ายสุด