“เฉลิมชัยฯ”น้อมนำศาสตร์พระราชา “อ่างพวง” เชื่อมต่อโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 แก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในลุ่มน้ำปิงตอนบนอย่างยั่งยืน
วันที่ 20 ธ.ค. 62 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ บริเวณจุดก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรือ “อ่างพวง” ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการน้ำในลักษณะการนำน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก ผันไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำที่ขาดแคลนน้ำ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะและมีแนวทางการดำเนินโครงการการตามแนวพระราชดำริดังกล่าว โดยการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อนำน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตงในฤดูน้ำหลาก มาพักไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจะรวมกับปริมาณน้ำส่วนเกินของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ส่งผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปเติมน้ำให้แก่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯน้อยกว่าความจุของอ่างฯเป็นประจำทุกปี โดยโครงการฯไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ แต่ยังเป็นการเชื่อมต่อเขื่อน 2 แห่งซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มเสถียรภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนได้อย่างยั่งยืน”
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีการขยายตัวของเมือง และประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการการใช้น้ำในปัจจุบัน และจะขาดแคลนน้ำมากขึ้นในอนาคต เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กรมชลประทาน ดำเนินการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำปริมาณน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนของลุ่มน้ำแม่แตง ไปเก็บไว้ในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนจะส่งน้ำผ่านอุโมงค์ต่อไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อีกทั้ง ยังเป็นการนำน้ำส่วนเกินในฤดูฝนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหิน โดยการขุดเจาะและระเบิดอุโมงค์ความยาวรวม 49 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน(ลำน้ำแม่แตง) – เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยภาพรวมความก้าวหน้างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ ประมาณร้อยละ 42 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง จำนวน 4 สัญญา ได้แก่ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 51 และสัญญาที่ 2 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 18 , อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 1 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 23 และสัญญาที่ 2 ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาโดยเร็วต่อไป ”
ทั้งนี้ หากดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงของน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งจะทำให้การจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ประมาณร้อยละ 70 เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานได้กว่า 175,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ และสามารถส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า 25 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการฯแม่แตง ได้อีกกว่า 14,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก
…………………………………………..