อาชีวะ จับมือเอกชนผลิตคนคุณภาพป้อนตลาดธุรกิจอาหารแช่แข็งสำเร็จรูป

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย นายอรรถพล สังขวาสี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และบริษัทเวนเจอร์เทค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และกลุ่มบริษัทในเครือ โดย นายวอลเตอร์ ลี เอง เซียง ประธานบริษัท (CEO) ได้ลงนามความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคน โดยอาชีวศึกษาให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในการรับนักเรียน นักศึกษา ระบบทวิภาคีเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และทำงาน Part Time ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านอาหารและโภชนาการ ด้านธุรกิจค้าปลีก และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา


นายอรรถพล สังขวาสี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อพัฒนากำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ บริษัท เวนเจอร์เทค มาร์เกตติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจด้านอาหารแช่แข็งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่าง ๆ ได้ลงนามความร่วมมือ ภายใต้แบรนด์ Chef kani express ผลิตแผ่นแป้งโรตี โทสตี้ ภายใต้แบรนด์ Hippo และผลิตภัณฑ์วาซาบิสด วาซาบิซอส ภายใต้แบรนด์ Wasabi-o โดยให้การสนับสนุนการจัดการเรียน การสอนอาชีวศึกษาในการรับนักเรียน นักศึกษา ระบบทวิภาคีเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และทำงาน Part Time ทั้งในระดับ ปวช. และปวส. สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษา และการพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ และเปิดโอกาสให้ นักเรียน นักศึกษา ได้เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทักษะและประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้จากตำราเรียนหรือห้องเรียน

ด้าน นายวอลเตอร์ ลี เอง เซียง ประธานบริษัท เวนเจอร์เทค มาร์เกตติ้ง จำกัด กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับบริษัท ฯ เป็นการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือ และมีแผนการดำเนินงานซึ่งเน้นความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร การจัดทำแผนการเรียนการสอน แผนการฝึกทักษะวิชาชีพ การวัดและประเมินผล โดยสามารถนำผลการทำงานมาคิดเป็นผลการเรียนภาคปฏิบัติหรือชั่วโมงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพได้ การทำงานพิเศษในช่วงปิดภาคเรียน รวมทั้งบริษัทจัดเตรียมวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้แก่ ครู นักเรียน นักศึกษา ในสังกัด สอศ. พร้อมทั้งพาคณะครู นักเรียน นักศึกษา ศึกษาดูงาน เยี่ยมชม การดำเนินกิจการของบริษัท อีกทั้งจัดครูฝึก อุปกรณ์ และสถานที่ ในการจัดการเรียนการสอน และการฝึกอบรมที่จำเป็นและเพียงพอต่อนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ นายอรรถพล กล่าวปิดท้ายว่า การลงนามครั้งนี้ เพื่อให้จัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก สาขาวิชาอาหาร และโภชนาการและสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดอาชีวศึกษา เป็นการเอื้ออำนวยที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการร่วมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและงานด้านวิชาการให้มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

………………………………………………
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.