เรื่องเรียนสำหรับเด็กๆ ต่อไปนี้จะสนุกถ้าโรงเรียนจัดกระบวนการการเรียนรู้ด้วยหลักการพัฒนาสมอง หรือ Brain-Based Learning (BBL) สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา “เล่นคือเรียน เรียนคือเล่น” เรียนด้วยความเข้าใจ เรียนรู้จากการสัมผัสจับต้องของจริงไปสู่สัญลักษณ์ เรียนด้วยอารมณ์ที่เปิดรับ และเรียนด้วยการลงมือทำ ด้วยหลักการนี้ การเรียนรู้ของเด็กจะพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติตามวัย เมื่อจิตใจเบิกบานสมองก็จะเปิดรับความรู้จากคุณครูและสิ่งรอบๆ ตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานชั้นนำของประเทศ เล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL ภายใต้โครงการ @CareLine เครือข่ายปันสุข ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาสื่อการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ BBL แก่ครูในโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาของจังหวัดนนทบุรี โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษานนทบุรีเขต 1 รวมทั้งจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนที่กระตุ้นการเรียนรู้ตามหลัก BBL อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ตามหลักของ BBL เครื่องมือซึ่งถือเป็นกุญแจ 5 ดอกที่สามารถใช้พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ได้แก่ 1)สนามเด็กเล่น 2)ห้องเรียน 3)กระบวนการเรียนรู้ 4)หนังสือ แบบฝึกหัดและใบงาน 5)สื่อกระตุ้นสมอง บริษัทฯ ได้สนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ นำหลักการ BBL เข้าไปใช้ในการเรียนการสอนเด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษา ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูผู้สอน อันจะทำให้กระบวนการการเรียนการสอนแบบ BBL เกิดสัมฤทธิผล จากการเข้าใจการพัฒนาของสมองมนุษย์ในช่วงวัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคิดสร้างสรรค์สื่อการเรียนที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ร่างกายและจิตใจ รวมถึงพัฒนาการทางสังคมของเด็ก
“บริษัทฯ จัดการอบรม BBL มาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันมีคุณครูมาเข้าร่วมการอบรมแล้วทั้งหมด 311 คน จาก 32 โรงเรียน เฉพาะการอบรมในปี 2562 นี้ มีคุณครูเข้าร่วมอบรม 62 คน จาก 29 โรงเรียน ทุกคนเห็นประโยชน์ของการนำหลัก BBL ไปใช้สร้างกระบวนการสอนให้กับเด็กๆ และสามารถที่จะคิดและทำสื่อการสอนทั้งรูปแบบชิ้นงาน เกมส์ และเพลง ให้สอดคล้องกับวัยของเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี ที่น่าชื่นใจ คือ เสียงสะท้อนของคุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เรามั่นใจว่า BBL เป็นคำตอบที่ใช่สำหรับเด็กและคุณครูด้วย กิจกรรมนี้เป็นการสร้างกุญแจดอกที่ 3-4-5 ของกระบวนการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง” นางบุญทิวา ให้ความเห็น
ด้านครูแป้ง หรือ นางสาวมานิตา ทองศุข ครูประจำชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนท่าทรายประชาอุปถัมภ์ ซึ่งตอบรับเข้าร่วมอบรม BBL กล่าวว่า ความท้าทายของการสอนเด็กช่วงวัยอนุบาล คือ การดึงความสนใจให้เขาจดจ่อกับการเรียนหรือการทำกิจกรรมได้นานพอ กระทั่งเข้าใจและจดจำบทเรียนนั้นได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น ครูจึงต้องคิดหาวิธี และวางแผนการสอน ที่จะทำให้เด็กมีความสุข สนุก และบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่สอนตามตำราเท่านั้น
“การเข้าอบรม BBL ช่วยต่อยอดการเรียนการสอนอย่างบูรณาการ และคิดนอกกรอบ เน้นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก รวมทั้งเทคนิคการดึงความสนใจเด็ก ๆ ก่อนเข้าสู่บทเรียน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากกับการเรียนการสอนเด็กเล็ก กิจกรรมที่จะนำไปต่อยอดกับการสอน เช่น เกมจับกลุ่มเป็นวงกลมที่ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ถือเป็นการท้าทายบรรยากาศในชั้นเรียน จากเดิมแค่นับตัวเลข และจับกลุ่มตามตัวเลข แต่เมื่อให้เด็กจับกลุ่มขยายออกไปเรื่อยๆ เด็กจะเดาทางไม่ได้ว่าเราจะจับกลุ่มให้เขาอย่างไร ตัวเด็กเองก็จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในห้องมากขึ้น รวมถึงได้เคลื่อนไหวร่างกาย ตาคอยจดจ้องคุณครู หูคอยฟังคำสั่งคำถาม เกิดความตื่นตัวและประมวลผลทั้งสมองซีกซ้ายและขวา เกิดการกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นของเยาวชนรุ่นใหม่”
ส่วนครูตาล หรือนางสาวณัชทชา เดชโชติสุนทร คุณครูชั้นประถมศึกษาหมวดวิชานาฏศิลป์ จากโรงเรียนวัดปากน้ำ (พิบูลสงคราม) เล่าให้ฟังว่า BBL ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุกสนาน เมื่ออารมณ์ดี จิตใจแจ่มใส สมองก็จะพร้อมเปิดรับความรู้ด้านอื่นอย่างเต็มที่
“การเรียนนาฏยศัพท์ เป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องท่องจำและมีแต่ศัพท์ที่ยากสำหรับวัยอย่างพวกเขา เราก็เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง โดยจะนำการประดิษฐ์สื่อการสอนในครั้งนี้ให้นักเรียนได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งจะจดจำได้ดีกว่าการท่องจำ หลักการใช้สมองเป็นฐาน BBL จึงสอดคล้องกับการเรียนนาฏศิลป์อย่างมาก คือ ใช้สมองทั้งซีกซ้ายจดจำและนับจังหวะ และซีกขวาเรียนรู้เรื่องศิลปะท่าทางให้ตรงตามหลักนาฏยศาสตร์ เรียกได้ว่าหลัก BBL สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้”
ในการพัฒนากุญแจดอกที่ 1-2 บริษัทฯ ได้ผนวกเป็นสาระหนึ่งของกิจกรรมพนักงานจิตอาสา โดยเน้นการเข้าไปปรับปรุงสนามเด็กเล่น ภูมิทัศน์ และห้องเรียนของโรงเรียนในจังหวัดนนทบุรี โดยปีนี้ได้ดำเนินการจำนวน 3โรงเรียน เช่น การวาดภาพระบายสีบนพื้นสนาม ผนังห้องเรียน แฝงด้วยความรู้ต่างๆ เช่น พยัญชนะ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ทาสีโต๊ะ-เก้าอี้ เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นให้มีสีสันเพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางบุญทิวา กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมพนักงานในการอาสาทำความดีตอบแทนสังคม โดยมีการจัดกิจกรรมพนักงานจิตอาสาทุกเดือน แต่ละปีจะมีกิจกรรมพัฒนาสนามเด็กเล่น ห้องเรียน และสภาพแวดล้อมโรงเรียน ให้เป็นเครื่องมือกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจและสมอง อีกทั้งเป็นสื่อที่เด็กๆสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา
“เสียงที่บ่งบอกความตื่นเต้นดีใจของเด็กๆ เมื่อเห็นชิ้นงานของพี่ๆ จิตอาสา นำความอิ่มเอมและสุขใจให้เราทุกครั้ง บริษัทฯ จะยังสานต่อและสนับสนุนแนวคิด BBL เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนให้มีคุณภาพ รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพของครูผู้สอนในการนำหลัก BBL ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนต่อไป”
กิจกรรมจิตอาสา “RATCH พัฒนาห้องเรียน พัฒนาสมอง ส่งเสริมน้องเรียนรู้” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พนักงานบริษัทฯ อาสาเข้าไปพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนครนนท์วิทยา 5 ทานสัมฤทธิ์ จังหวัดนนทบุรี ด้วยการวาดภาพระบายสีผนังอาคารและห้องเรียน ครูเพชร นางเพ็ชรา ดิษฐผล ครูหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เล่าด้วยน้ำเสียงดีใจว่า
“เด็กๆ ตื่นเต้นมากที่เห็นภาพวาดต่างๆ และสนใจเข้ามาดูกันมาก เพราะภาพต่างๆ เราให้เด็กเป็นคนเลือก ในแต่ละภาพเด็กจะได้ความรู้ที่แฝงอยู่ คือ ชนิดสัตว์และสีต่างๆ ที่ระบายอยู่ในรูปบนผนัง ซึ่งเป็นความสนใจของเด็กในวัยนี้อยู่แล้ว คุณครูก็สอนเพิ่มเติมรายละเอียดได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าหน้าห้องเป็นรูปไดโนเสาร์ คุณครูก็จะช่วยสอนเสริมว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์อะไรบ้าง พันธุ์ไหนกินเนื้อ พันธุ์ไหนกินพืช บางรูปเด็กบางคนรู้จัก เด็กบางคนไม่รู้จัก เขาก็จะมีการช่วยบอกเพื่อน เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”
การขับเคลื่อนขยายผลแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองให้กับโรงเรียนจะยังคงดำเนินต่อไป เพื่อร่วมสร้างอนาคตของชาติที่มีคุณภาพและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 ว่าด้วยการศึกษาที่เท่าเทียมของประเทศต่อไป