เศรษฐกิจ360 องศา : ขายของออนไลน์ คนไหนทำ คนนั้นได้เงิน โดย นิว ศิริศักดิ์

ปลายปี 2561 เศรษฐกิจ 360 องศา ได้นำเสนอเรื่องราวของ SME Online ในมุมของ ตลาดออนไลน์ กับการเป็นจุดนัดพบของ SME-ลูกค้า-สินค้า-รายได้ ในครั้งนั้น SME Online เป็นโครงการที่ได้รับสนับสนุนการดำเนินงานจากสสว.-สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

มาถึงปีนี้ 2562 SME Online หรือโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ก็ยังคงได้รับสนับสนุนการดำเนินงานจากสสว.อย่างต่อเนื่อง โดยสสว.เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้มีช่องทางการตลาดมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการตลาดออนไลน์ให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพการแข่งขัน และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการตลาดออนไลน์ให้เป็นช่องทางการตลาดที่ยั่งยืน และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ยังคงได้รับมอบหมายจากสสว.ให้ดูแลผู้ประกอบการพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด เป็นปีที่ 2 ประกอบด้วย จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

การดำเนินงานเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้ ISMED มองเห็นปัญหาในการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยในปีแรก ISMED มุ่งเน้นการอบรมเป็นหลักและทำให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาร่วมโครงการ แต่ก็พบว่าศักยภาพของผู้ประกอบการ “ไม่เท่ากันเลย” คนที่เข้าร่วมกิจกรรมในปีแรกมีทั้งคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับออนไลน์เลย และคนที่รู้เรื่องแล้วแต่รู้ในระดับที่แตกต่างกัน การกำหนดหลักสูตรอบรมเพื่อป้อนความรู้ สื่อความเข้าใจในเรื่องตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการจึงเกิดผลกับผู้ประกอบการที่รู้เรื่องแล้วเป็นส่วนใหญ่

ในปีที่ 2 ISMED จึงแบ่งผู้ประกอบการภาคใต้ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาตามศักยภาพของผู้ประกอบการ

กลุ่มที่ 1 – กลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่มีร้านค้าออนไลน์

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการ SME Online กับสสว. และผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการแล้วแต่ยังไม่สามารถขายสินค้าออนไลน์ได้จริง

“เราเรียกผู้ประกอบการกลุ่มนี้ว่า Beginner กิจกรรมสำหรับกลุ่มนี้เราทำการอบรมให้ผู้ประกอบการรู้จักออนไลน์ คืออะไร ซึ่งการรู้จักตรงนี้เรามีการส่งเสริม ผลักดัน เราพบว่าผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ได้ในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย เพราะผู้ประกอบการยังไม่ได้ค้าขายจริงจัง เขาแค่ทำความรู้จักกับตลาดออนไลน์ มีเพียงคนที่จริงจังกับออนไลน์เท่านั้นที่ไปต่อได้ แต่คนที่เข้ามาแล้วขาดทักษะอย่างยิ่ง เขาก็ไปต่อไม่ได้”

ทักษะที่สำคัญในที่นี้เป็นเรื่องของการใช้งานอุปกรณ์ เช่น PC หรือใช้มือถือได้คล่องแคล่ว ถ้าเข้าใจใน 2 เรื่องนี้ กับอีกอย่างก็คือ มีความเข้าใจจริงๆ ว่าแอปพลิเคชันแต่ละตัว สร้างประโยชน์อะไรให้ได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะบอกวิธีการง่ายๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพจ Facebook Line ซึ่งจริงๆ ผู้ประกอบการอาจค้าขายกันอยู่บ้างแล้ว เป็นแบบนี้ก็เรียกว่าเขาเริ่มเข้ามาใช้เรื่องออนไลน์ในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าคนกลุ่มนี้ก็ไม่ถึงกับว่าไม่ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว เพราะว่าเข้าใจการทำออนไลน์เบื้องต้นง่ายๆ แล้ว

ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ISMED ได้จัดหลักสูตรอบรม 1 วัน พร้อมสอนวิธีการขายสินค้าออนไลน์ใหม่ สอนให้เข้าใจการสร้างคอนเทนต์ ระบบการขนส่งสินค้า การตั้งราคา วิธีการบริหารจัดการร้านค้าและกระบวนการต่างๆ ในการขายสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่การเปิดร้านค้าไปจนถึงการส่งสินค้าถึงมือลูกค้า

กลุ่มที่ 2 – กลุ่มผู้ประกอบการที่มีร้านค้าออนไลน์แล้ว

ผู้ประกอบการที่มีทักษะในการใช้อุปกรณ์จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มนี้ในเบื้องต้นต้องเรียกว่าเป็นกลุ่มที่ขายสินค้าออนไลน์เป็นอยู่แล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการกับ ISMED ในปีที่แล้ว และคนที่อาจจะมีพื้นฐานอยู่แล้วบ้าง  ดังนั้น ISMED จึงจัดหลักสูตรอบรมให้ 2 วัน เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และเหมาะกับธุรกิจ เหมาะกับแพลตฟอร์มที่ใช้ในการขายสินค้าออนไลน์ การใช้ Facebook โปรโมทสินค้าหรือแบรนด์ การทำงานร่วมกับ E-Marketplace การหา Customer Insight เพื่อนำมาประกอบการทำการตลาดได้อย่างเหมาะสมและถูกกลุ่มเป้าหมายของตนเอง

กลุ่มนี้จะเน้นในเรื่อง สอนเจาะลงไปในเรื่องเทคนิคเลย เช่น การเพิ่มยอดไลค์ การเพิ่มยอดขาย ต้องทำอย่างไร การเจาะกลุ่มผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะจุดทำอย่างไร คิดว่ากลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด เรียกว่าผู้ประกอบการได้เรียนรู้เทคนิคในการปฏิบัติจริงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังจัดให้มีการอบรมการถ่ายภาพด้วยมือถือสมาร์ทโฟนพร้อมเทคนิคการแต่งภาพ โดยจัดเตรียมฉากต่างๆให้ผู้ประกอบการได้ลองถ่ายรูปกันจริงๆ และปรับแต่งภาพส่งโชว์กันในการอบรมเลย

กลุ่มที่ 3 – กลุ่มผู้ประกอบการออนไลน์ที่มีศักยภาพ

กลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในการขายสินค้าออนไลน์ มีการขายและมียอดขายออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ กลุ่มนี้นอกจากจะจัดให้เข้าอบรมในหลักสูตร 2 วันแล้ว ISMED ยังคัดเลือกผู้ประกอบการมา 20 ราย เพื่อจัดที่ปรึกษาเฉพาะด้านไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกตามประเด็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องการ ณ สถานประกอบการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำตลาด การบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น

กลุ่มนี้เรียกได้ว่าต้องฟูมฟักกันเลยทีเดียว ทำอย่างไรให้เขาทำธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีมากขึ้นไปอีก รวมถึงการนำพาผู้ประกอบการไปสู่ต่างประเทศบ้าง แล้วแต่ความต้องการของผู้ประกอบการ บางคนก็ไม่อยากไปต่างประเทศ แต่อยากขยายธุรกิจไปทั่วประเทศมากกว่า แต่บางคนอาจเจาะบางจังหวัดอยู่แล้ว แต่อยากไปต่างประเทศใกล้ๆ เพราะอยู่ใกล้ชายแดน  ซึ่งสะดวกมากกว่าในการนำส่งสินค้า  โดยเราจะพัฒนาตามโจทย์หรือความต้องการของผู้ประกอบการ

การจัดที่ปรึกษาลงให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ

นอกจากการพัฒนาผู้ประกอบการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มแล้ว สิ่งที่ทางโครงการได้ส่งเสริมผู้ประกอบการก็คือ การจัดทำคอร์สออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้กลับไปทบทวนและทำความเข้าใจในการทำการตลาดมากขึ้น

คอร์สออนไลน์ที่ผู้ประกอบการสามารถศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองจากสื่อที่ ISMED จัดทำไว้ ประกอบด้วย

  • การหา Customer Insight เพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด
  • Influencer Marketing
  • วิธีการสร้างลูกค้า (Lead Generator)
  • วิธีการเปลี่ยนลูกค้าขาจรให้ซื้อสินค้ามากขึ้น (Conversion Funnel)
  • วิธีการผสมผสานช่องทางหรือ Omni Channels

สแกน QR Code คอร์สออนไลน์

อีกกิจกรรมการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการก็คือ การเตรียมความพร้อมผลิตภัณฑ์ โดย ISMED ได้จัดช่างภาพมืออาชีพถ่ายภาพสินค้าแบบ Packshot ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถนำภาพไปใช้งานได้จริงเลย พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ โดยเป็นบริการอัพเกรดเสริมจากทาง Lnw Shop ได้แก่ ฟรีโฆษณา Google Ad และ บริการ Sync Facebook Shop ซึ่งผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการสต๊อคสินค้าหน้า Facebook Shop ผ่าน Lnw Shop ได้เลย นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับ Pinsouq.com ซึ่งเป็น E-Marketplace จำหน่ายสินค้าฮาลาลในรูปแบบออนไลน์ จัดแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 และแคมเปญลดสินค้า 50% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ปาบึก โดยส่วนต่างนั้นทางโครงการเป็นผู้สนับสนุน และการออกบูธแสดงและจำหน่ายสินค้าที่ทางโครงการ และสสว.จัดขึ้น เป็นต้น

ผู้ประกอบการภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการ ออกบูธในงาน Online Market Fest เทศกาลสินค้าออนไลน์สบายกระเป๋า  Grand Hall ชั้น G เดอะมอลล์ บางกะปิ

สำหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2563 ทางโครงการจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้วย Digital Marketing โดยจัดกิจกรรมและพัฒนาเชิงลึกมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการทำ Digital Marketing Plan การทำ Omni Channels และการให้บริการต่างๆ ที่เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการพื้นที่ภาคใต้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ISMED โทร.0-2564-4000 ต่อ 4112-4113
การดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562 มีผู้ประกอบการภาคใต้เข้าร่วมอบรมในโครงการ รวม 2,057 ราย พร้อมเปิดร้านค้าออนไลน์ 1,945 ราย ทั้งนี้ได้มีการติดตามผลผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีการขายสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้นจากเดิม โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2562 เกิดยอดขายจากการขายสินค้าออนไลน์ 68,606,807 บาท และยอดขายจากการออกบูธแสดงและจำหน่ายสินค้า 1,357,804 บาท ทำให้เกิดรายได้ในชุมชนและพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น

**********

ผลสัมฤทธิ์ SME Online ปี 2562

“การดำเนินโครงการ SME Online ปี 2562 สำหรับ ISMED ซึ่งดูแลผู้ประกอบการภาคใต้ 14 จังหวัด โดยส่วนตัวยังไม่ค่อยพอใจเท่าไร แม้ในเชิงยอดขายที่ได้จากการพัฒนาในโครงการค่อนข้างถือว่าอยู่ในระดับดี แต่การที่เราพัฒนาผู้ประกอบการค่อนข้างหลากหลาย เลยอยากให้ผู้ประกอบการไปได้ไกลมากกว่านี้ รวมถึงการหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะผลักดันผู้ประกอบการได้เข้าสู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ตอนนี้เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เรื่องของการค้าขายออนไลน์ ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องทำออนไลน์ เมื่อก่อนเราอาจบอกว่าขายออฟไลน์ หรือขายออนไลน์ ตอนนี้ต้องบอกว่า ขายออฟไลน์และขายออนไลน์ หรือขายออนไลน์อย่างเดียวโดยที่ไม่ต้องมีออฟไลน์เลย

การค้าขายออนไลน์ จะมีข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง เช่น 1.

1.อายุของสินค้า หรือการรักษาสินค้า

2.การแตกหักเสียหาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงวิธีการหีบห่อต่างๆ

3.การขนส่ง หรือที่เรียกว่าโลจิสติกส์ ซึ่งในปัจจุบันมองว่าการขนส่งสินค้าในบ้านเรามาไกลมาก เพราะโลกของออนไลน์เติบโตขึ้นมาก การส่งของภายในวันเดียวกัน การส่งของภายในวันรุ่งขึ้น ส่งอาหารสด เงื่อนไขการขนส่งก็จะกลับไปอยู่ที่ผู้ประกอบการว่า อาหารสดจะส่งได้ภายในรัศมีเท่าไร จากเมื่อก่อนที่ต้องเดินทางมากินที่ร้าน ซึ่งอันนี้ก็เป็นระบบออนไลน์รูปแบบหนึ่ง

หลายๆ คน มีการโฆษณาผ่านเฟสบุ๊คหรือไลน์  เช่น วันนี้จะมีการทำอาหารชนิดนี้ ถ้าใครอยากกินให้มาสั่งไว้ล่วงหน้า หรือ GrabFood FoodPanda Lalamove ฯลฯ พวกนี้โดยส่วนตัวก็อยากรวมว่าเป็นการค้าขายออนไลน์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มนี้สามารถพัฒนาขึ้นได้อีกเช่นกัน

พัฒนาในเรื่องไหน? ร้านค้าปัจจุบันพัฒนาในเรื่องการบรรจุหีบห่อสินค้ามากขึ้น  เช่น เมื่อก่อนสั่งราดหน้า เส้น-น้ำก็มาพร้อมกัน แต่ปัจจุบันทุกอย่างแยกกันมา แม้แต่ส้มตำปัจจุบันก็แยกส่วนประกอบมา พอมาถึงลูกค้าก็รวมส่วนประกอบและคลุกให้เข้ากัน อันนี้ถือเป็นพัฒนาการของผู้ประกอบการรูปแบบหนึ่งในเรื่องของการจัดการสินค้าของตนเอง เพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ในส่วนของบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น เดิมบรรจุหีบห่อสินค้าอยู่ในถุง กระปุก ขวดแก้ว หรือในกล่องอะไรบางอย่างที่อาจบุบ เสียหาย พวกนี้ก็จะได้รับการพัฒนาในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น พัฒนาในเรื่องการส่งของต้องมีตัวกันกระแทกเข้ามา หรือพัฒนาในเรื่องบรรจุภัณฑ์ จากเดิมบรรจุภัณฑ์กระปุกน้ำพริกก็จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนในเรื่องบรรจุภัณฑ์และวิธีการห่อ เพื่อให้สินค้าเดินทางไปถึงผู้บริโภคได้ในสภาพเดิม

นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องดูไปถึงการพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานด้วยว่า ต้องการขายสินค้าให้ไกลแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการในหลากหลายวิธี หลายเงื่อนไข เพื่อให้สามารถเข้าสู่โลกของการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น จาก 2 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าผู้ประกอบการที่ขาดศักยภาพไปต่อไม่ได้ ก็น่าเห็นใจจริงๆ ซึ่งจำเป็นต้องหาผู้ช่วยให้ผู้ประกอบการ เช่น การปั้นเด็กๆ รุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาในพื้นที่ให้เป็นผู้ค้าออนไลน์ และเข้าไปรับสินค้าจากคุณลุงคุณป้าที่ยังขาดทักษะในการขาย แต่มีทักษะในการปรุงอาหารที่อร่อย หรือมีทักษะในการผลิตสินค้าที่ดี พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ประกอบการเก่งเรื่องอะไรก็ให้ทำในเรื่องนั้น เก่งผลิตก็ผลิตไป เป็นต้น”

ในปี 2563 ISMED อาจปั้นทีมเด็กๆ ขึ้นมา ซึ่งเด็กๆ จะเรียนรู้ง่ายเพราะโตมาในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะเทคนิคต่างๆ น่าจะเรียนรู้และไปได้เร็ว ซึ่งก็มีการกำหนดไว้คร่าวๆ แล้วว่า จะพัฒนาไปในรูปแบบไหน และจะพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการให้มากยิ่งขึ้น อย่างในปีนี้อาจติดขัดในเรื่องความพร้อม หรือการที่เราจะพาผู้ประกอบการไปต่างประเทศ แต่สินค้าของผู้ประกอบการเองยังขาดมาตรฐานสินค้า เช่น อย. GMP HACCP หรือมาตรฐานอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้พร้อมสำหรับการก้าวไปข้างหน้า

อาภาพรรณ ชนานิยม

ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาศักยภาพและการจัดการองค์ความรู้ – ISMED