สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกิดน้ำทะเลหนุน ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย กรมชลประทาน จึงวางแผนและดำเนินการบริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การลำเรียงน้ำจากคลองและแม่น้ำสายหลัก เร่งผลักดันน้ำเพื่อลดค่าความเค็มและผลกระทบด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ได้ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง และจากการสำรวจพบว่า ในวันที่ 16 ธ.ค. 62 ช่วงเวลา 13.30 – 17.30 น. ในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดลิ่มความเค็มรุกตัวเพิ่มขึ้น หลังจากนั้น ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 22.30 น. แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล มีค่าความเค็มขึ้นสูงถึง 0.92 กรัมต่อลิตร ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตน้ำประปาที่ 0.50 กรัมต่อลิตร นั้น
กรมชลประทาน ไม่นิ่งนอนใจเร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเร่งด่วน โดยในวันที่ 17 ธ.ค. 62 เวลา 06.00 น. แม่น้ำป่าสัก ได้เพิ่มอัตราการระบายที่เขื่อนพระรามหก จากเดิม 5 ลบ.ม./วินาที เป็น 15 ลบ.ม./วินาที อีกทั้ง ใช้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาสนับสนุน โดยทำการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่าน 3 คลองหลัก เชื่อมมายังแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ คลองจรเข้สามพัน ลำเลียงน้ำผ่านประตูระบายน้ำสองพี่น้อง ในอัตราไม่น้อยกว่า 25 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำท่าจีน และใช้เครื่องสูบน้ำช่วยสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ซึ่งจะต้องรักษาระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ให้สามารถสูบน้ำเข้าคลองพระยาบรรลือได้ ซึ่งควบคุมให้มีอัตราการไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่น้อยกว่า 30 ลบ.ม./วินาที ด้านคลองประปา ลำเลียงปริมาณน้ำมาลงยังคลองปลายบาง โดยผ่านคลองประปาและคลองมหาสวัสดิ์ ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองท่าสาร-บางปลา ลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำคลองจินดา เพื่อควบคุมค่าความเค็มสำหรับกล้วยไม้ ไม่ให้เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร
การดำเนินการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว จะต้องควบคุม ติดตาม และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำด้านค่าความเค็ม ของแม่น้ำทั้ง 4 สาย (แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง) และด้านการลำเลียงน้ำ ให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบและสามารถดำเนินกิจกรรมการใช้น้ำ เช่น การผลิตประปา ได้ตามปกติ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ใช้น้ำตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถลำเลียงน้ำไปยังจุดหมายได้ตรงตามแผนฯ ที่วางไว้ เพื่อเร่งผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
……………………………………………….
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
17 ธันวาคม 2562