สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : อัญชัน คุมระดับน้ำตาลในเลือด

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน คือมีค่าน้ำตาลในเลือดเกิน 99 มก./ดล. หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง  และเกิน 140 มก./ดล. หลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง  ภาวะเช่นนี้ถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน  และหากผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา หรือไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในอยู่ในเกณฑ์ปกติอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลเสียต่อระบบประสาม หลอดเลือด จนกระทั่งปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้

สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มักเกิดจาก ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก  มีโรคเครียด หรือภาวะเครียดตลอดเวลา ไม่ออกกำลังกาย เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อน ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินไม่ได้ หรือในผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น

การแก้ไข หรือการดูแล ขึ้นกับความรุนแรงและระดับอาการที่เป็น โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรม ลดการรับประทานอาหารกลุ่มเสี่ยง ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนชนิดยา และพยายามควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในกณฑ์ปกติ

อัญชัน  สมุนไพรทางเลือกเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน

ความรู้จากหมอพื้นบ้าน ได้กล่าวว่า ดอกอัญชันสีขาว  เอาไว้แก้พิษ ทั้งพิษงู พิษหมาบ้า ถึงขนาดมีความเชื่อว่า เอารากผูกแขนไว้กันงูเวลาเข้าป่า และใช้รากฝนกินแก้พิษต่างๆ ส่วนอัญชันดอกสีม่วง(หมอยาบางท่านเรียกอัญชันดอกเขียว) เอาไว้เขียนคิ้วกับขยี้ทาหัวให้หลานที่เกิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นประเพณีของคนไทยทุกภาคทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตะวันออก ตะวันตก อัญชันดอกม่วงยังเด่นทางแก้ฟกช้ำ ใบของอัญชันทั้งสองชนิดเป็นยาเย็น ใช้เป็นส่วนประกอบของยาเขียว

อัญชันยังเป็นสมุนไพรสำหรับคนเป็นเบาหวาน ปัจจุบันมีการศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงผลของอัญชันทั้งดอก ราก และโดยเฉพาะใบ ในการช่วยลดน้ำตาลในเลือดและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน มีชาวบ้านที่ใช้ดอกอัญชันต้มกินรักษาเบาหวานขึ้นตาพบว่ามีอาการดีขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจากผลของของสารแอนโธไซยานิน และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของอัญชันนั่นเอง นอกจากนี้หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้ใบรักษาอาการอักเสบ บวม ใช้พอกกระดูกหัก โดยแนะนำให้กินเป็นผักโดยใช้ใบอัญชันอย่างเดียวหรือจะใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นตำพอกก็ได้ มีการศึกษาในหลอดทดลองยืนยันว่า ดอกและใบของอัญชันมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ

ขนาดการรับประทานที่แนะนำ : นำกลีบดอกอัญชัน สดหรือแห้งก็ได้ ไปต้มน้ำกิน อย่าต้มนานเกิน แนะนำ 5 นาที ไฟอ่อนๆ  หรือชงในน้ำร้อน จิบดื่มอุ่นๆ วันละ 5-10 ดอก *เลือกแบบไม่มียาฆ่าแมลงหรือสารเคมีตกค้าง

การศึกษาความเป็นพิษของดอกอัญชันในหนู พบว่ามีการใช้อัญชันขนาดสูงถึง 3000 mg/kg ในหนูทดลอง ไม่พบความเป็นพิษใดๆ จึงถือว่า ดอกอัญชัน เป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง สามารถรับประทานในรูปแบบของอาหาร/เครื่องดื่มได้

ข้อควรระวัง

  1. ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟารินควรหลีกเลี่ยงการดื่มต่างน้ำ หรือดื่มเข้มข้น เพราะอาจมีผลเพิ่มฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือด
  2. ควรระมัดระวังในผู้ที่มีอาการแพ้ดอกไม้ชนิดต่างๆ โดยหมั่นสังเกตตนเอง หากใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ให้หยุดใช้ทันที
  3. ตำราอายุรเวทกล่าวว่า อัญชันสามารถเกิดอันตรกิริยากับยาต้านซึมเศร้า ยาต้านโรคจิต (antipsychotics) และยากันชัก
  4. ผู้ป่วยโรคไตที่มีค่าการกรองของไต ต่ำว่า 50 ไม่ควรดื่มต่างน้ำ หรือดื่มแบบเข้มข้น