นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงาน โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ ระหว่าง กรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ณ อาคารสัมมนาบึงฉวาก รีสอร์ท อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส. มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือแพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาดผลิตผลการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ จึงได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค. 62 ณ ห้องประชุม 134-135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น
นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืนแก่เกษตรกร จึงได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงแนวทางให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ และผู้บริหารระดับสูงของ ธกส. เพื่อมอบนโยบายในการปฏิบัติ และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน พร้อมทั้งระดมความคิดเพื่อออกคู่มือการปฏิบัติที่สมบูรณ์ อีกทั้งในวันที่ 17 ธ.ค. 62 จะมีการคิกออฟขับเคลื่อนโครงการฯ โดยใช้ จ.ขอนแก่น นำร่องแห่งแรก หรือ ‘ขอนแก่นโมเดล’ ซึ่งจะเดินทางไปเป็นประธานพิธีมอบสินเชื่อโครงการระบบเกษตรแปลงใหญ่ และโครงการ xyz ให้กลุ่มเกษตรกร ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครขอนแก่น ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ต่อไป
“สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำซากในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ และยังได้ผลผลิตต่ำ รวมถึงขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ ตลอดจนนายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกครั้งให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มอบนโยบายให้กับกรมปศุสัตว์จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีกินมีใช้ภายในระยะเวลา 4 เดือน ดังนั้นจึงต้องหันมาพึ่งด้านปศุสัตว์ เพราะใช้น้ำน้อย และมีราคาดี ทั้งวัว หมู แพะแกะ และไก่พื้นเมือง” นายประภัตร กล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการของกลุ่มเกษตรกร คาดว่าภายในสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ จะได้รายชื่อกลุ่มทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าแต่ละจังหวัดต้องมี 100 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการตามที่ได้เลือกไว้
สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือ ของ mou ดังนี้ กรมปศุสัตว์ จะรับผิดชอบในการให้คำแนะนำในด้านการจัดการเลี้ยงสัตว์กำหนดคุณลักษณะเฉพาะสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการ การจัดการด้านการควบคุมป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การควบคุมมาตรฐานฟาร์ม การเคลื่อนย้าย การควบคุมการใช้สารต้องห้ามตามกฎหมาย การจัดทำฐานข้อมูล และการให้บริการพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์โครงการ รับสมัครสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน หรือนิติบุคคลอื่นๆ หรือบุคคลธรรมดา และคัดกรองเบื้องต้น ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าร่วมโครงการ และให้การสนับสนุนประสานงานด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่การเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน
ส่วนทางด้าน ธ.ก.ส. นั้น จะทำการประชาสัมพันธ์ ชี้แจง สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรและผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อม ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแผนธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เป็นไปตามที่โครงการกำหนด และให้การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร นิติบุคคล และกลุ่มเป้าหมายตามโครงการ รวมทั้งบริหารสินเชื่อตลอดระยะเวลาโครงการ สนับสนุนการจัดการตลาดตลอดห่วงโซ่การเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง
………………………………………………………