คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้หน่วยงานในจังหวัดจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเชิงรุก เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดทั่วถึง นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง หากมีปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรปรึกษาได้ที่ 1663
วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งที่ 2/2562 โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ยุติธรรม มหาดไทย แรงงาน เข้าร่วมประชุม
นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีมติให้ทุกกระทรวงเร่งรัด ติดตามหน่วยงานในระดับจังหวัด ขับเคลื่อนป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทายของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ได้รับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมอย่างต่อเนื่องตามรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ถูกกดดันให้ลาออก และจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเชิงรุกแก่เยาวชน ส่งเสริมการให้คำปรึกษา ก่อน ระหว่าง หลังคลอดหรือหลังแท้ง เพื่อให้เข้าถึงบริการคุมกำเนิดด้วยวิธีสมัยใหม่อย่างทั่วถึงตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจัดระบบรับฟังปัญหาให้คำปรึกษาที่ถูกต้องในโรงพยาบาลรัฐ หรือทางสายด่วนนิรนาม 1663 ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ เนื่องจากมีแม่วัยรุ่นหลังคลอดหยุดเรียนหรือลาออกจากสถานศึกษาถึงร้อยละ 44 สำหรับกลุ่มที่กลับไปเรียนต่อ ร้อยละ 78.1 ได้กลับไปเรียนในสถานศึกษาเดิม
ร้อยละ 18.8 เรียนนอกระบบการศึกษา และร้อยละ 37.8 ย้ายสถานศึกษา
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะลดจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียนเหลือน้อยกว่า 25 คนต่อหนึ่งพันประชากรหญิงได้ภายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ทุกประเทศดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายภายในปี 2569 อย่างไรก็ตามแม้รายงานสถานการณ์และเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ของสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ตั้งแต่ปี 2555-2561 จะพบว่ามีแนวโน้มลดลง โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี ลดลงจาก 53.4 เหลือ 35.0 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ลดลงจาก 1.8 เหลือ 1.2 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง แต่ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดระบบบริการที่เป็นมิตรเพื่อการเข้าถึงบริการของวัยรุ่น
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพและมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม การส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดูสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น การส่งเสริมการบูรณาการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้
*****************************************