วว. รับโล่ตราสัญลักษณ์ G – Green ระดับประเทศ ในโอกาสสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  ได้รับการรับรองสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) ระดับดีเยี่ยม

นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบโล่ตราสัญลักษณ์ G – Green ระดับประเทศ ให้แก่  ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้แทน วว. จากการที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  สถานีวิจัยในส่วนภูมิภาคของ วว. จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการการรับรองสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) ระดับดีเยี่ยม โดยได้รับคะแนน 92.43 จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้โครงการสำนักงานสีเขียว กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

โอกาสนี้  ดร.สุรชิต  แวงโสธรณ์  ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อม และพนักงาน วว. ร่วมเป็นเกียรติด้วย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2510 โดยมีภารกิจการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา จนถึงขณะนี้มีผลงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 500 เรื่อง ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2519 สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชียในขณะนั้น และในปัจจุบันสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตั้งอยู่ในเขตแกนกลางพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และในปี 2562 ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชปกคลุมด้วยป่าไม้สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าดิบแล้งชนิดนี้ ประกอบด้วย ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง กระเบากลัก เป็นต้น ส่วนป่าเต็งรัง ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พะยอม เป็นต้น ป่าทั้งสองชนิดครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ นอกนั้นเป็นป่าชนิดอื่น เช่น ป่าไผ่ ป่าปลูก และทุ่งหญ้า

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมีความหลากหลายชีวภาพ ของชนิดพันธุ์พืช สัตว์และสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดรา จากการศึกษาความหลากหลายของเห็ด (Mushroom) ในพื้นที่เบื้องต้น สามารถจำแนกได้ 94 ชนิด 32 วงศ์  จากตัวอย่างสัณฐานวิทยาของเห็ดราขนาดใหญ่ (Macro fungi) มากกว่า 330 สัณฐาน นอกจากนี้ยังมีสัตว์ 486 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 79  ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 29 ชนิด  สัตว์เลื้อยคลาน(Reptiles) 88 ชนิด นกและสัตว์ปีก 290 ชนิด โดยมี “ไก่ฟ้าพญาลอ” นกประจำชาติไทยเป็นจุดเด่นซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งหมดปีละ 146,059 ตัน  ประกอบด้วย 1) ป่าดิบแล้ง พื้นที่ 26,474 ไร่ ดูดซับได้ 3.26 ตัน/ไร่/ปี หรือปีละ 86,305 ตัน ป่าเต็งรัง พื้นที่ 7,373 ไร่ ดูดซับ 2.84 ตัน/ไร่/ปี หรือปีละ 20,939 ตัน 3) ป่าปลูก พื้นที่ 12,028 ไร่ ดูดซับได้ 3.23 ตัน/ไร่/ปี หรือปีละ38,850 ตัน

ความสำคัญของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชในด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ได้แก่  1) เป็นสถานที่เพื่อการวิจัย ทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง) จนถึงขณะนี้การวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 500 เรื่อง ซึ่งความรู้ดังกล่าวได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาแก่นักวิชาการและยังได้นำไปช่วยเหลือในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนอีกด้วย 2) เป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติ สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ใช้พื้นที่ป่าไม้ ในเขตสถานีฯ เป็นสถานที่เพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านธรรมชาติของป่าไม้ นอกจากนั้น บริเวณโดยรอบของพื้นที่ป่าไม้ ของสถานีฯ ยังมีหมู่บ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน ที่อยู่กับป่าไม้ ได้อย่างสมดุลซึ่งเป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสังคมเศรษฐกิจกับป่าไม้ได้อีกด้านหนึ่ง ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนมาก 3) เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (UNESCO Biosphere Reserves) แห่งหนึ่งของ โลกที่ทำหน้าที่ดำเนินการอนุรักษ์ พัฒนา และการสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายนานาชาติทั่วโลก 4) เป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติและพักผ่อนหย่อนใจ ทางด้านธรรมชาติ ของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง พรรณพืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด และ 5) เป็นศูนย์การประชุมและสัมมนาเนื่องจากมีความพร้อมทั้งที่พัก สถานที่ประชุมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370  ได้ที่ โทร. 09 8219 5570, 06 1102 1707, 08 5774 3539, 08 4823 7974 และ 0 4400 9556 เว็บไซต์: www.tistr.or.th/sakaerat  อีเมล์: sakaerat@tistr.or.th

………………………………………………………………….