ชป.เฝ้าระวังค่าความเค็มแม่น้ำสายหลัก ในลุ่มเจ้าพระยาตลอดฤดูแล้งนี้ อย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากฤดูฝนในปีนี้ มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่า ที่จะต้องนำมาใช้สนับสนุนกิจกรรมต่างในช่วงฤดูแล้งมีค่อยข้างน้อย กรมชลประทาน จึงบริหารจัดการน้ำพร้อมเฝ้าระวังค่าความเค็มในพื้นที่เสี่ยงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดช่วงฤดูแล้ง ปี2562/63 อย่างต่อเนื่อง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 11,395 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 4,699 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ

สำหรับการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เฉพาะภาคกลาง ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้ทำการเฝ้าระวังและควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลของการประปานครหลวง ให้มีค่าความเค็ม ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ปัจจุบัน(16 ธ.ค. 62 เวลา 07.00 น.) ค่าความเค็มวัดได้ 0.19 กรัมต่อลิตร (มีค่าความเค็มสูงสุด 0.77 กรัมต่อลิตร ณ วันที่ 15 ธ.ค. 62 เวลา 22.00 น.)
ลุ่มน้ำแม่กลอง พื้นที่บริเวณอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ทำการเฝ้าระวังและควบคุมค่าความเค็มที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร ปัจจุบัน ค่าความเค็มวัดได้ 0.17 กรัมต่อลิตร
และลุ่มน้ำท่าจีน บริเวณอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เฝ้าระวังและควบคุมค่าความเค็มที่สถานีปากคลองจินดา ไม่ให้เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร ปัจจุบัน ค่าความเค็มวัดได้ 0.30 กรัมต่อลิตร

การบริหารจัดการน้ำ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยฤดูแล้ง รวมทั้งสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ ด้านสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนลุ่มน้ำท่าจีนมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดจนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย(พืชไร่-พืชผัก)ได้บางส่วนตามแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และไม่ทิ้งของเสียหรือขยะลงสู่ลำน้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆ   เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศและไม่ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสียในระยะต่อไป

*********************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์