(๑๓ ธ.ค. ๖๒ วัดโพธิ์) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก ครั้งที่ ๑๔ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย มีวาระประกาศผลการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ The Intangible Cultural Heritage (ICH) ประจำปี 2019 จำนวนรวม ๕๑ รายการ ประกอบด้วย -Urgent List (๖ รายการ) -Representative List (๔๒ รายการ) และ -Good Practice List (๓ รายการ) โดยนวดไทย จัดอยู่ในกลุ่ม Representative List of ICH หรือ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งในที่ประชุมมีมติรับรองและประกาศให้ “นวดไทย” NUAD THAI ขึ้นทะเบียนในรายการดังกล่าว หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ในลำดับสมาชิกที่ ๑๗๐ “นวดไทย” เป็นมรดกฯ ของไทย รายการที่สอง ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ต่อจากรายการ “โขน” ที่ขึ้นไปแล้วเมื่อปลายปี ๒๕๖๑
การเสนอนวดไทย ในปี ๒๕๖๒ สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มีมติเห็นชอบการจัดทำข้อมูลโขนและนวดไทย เพื่อเตรียมการเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ตามเอกสารนำเสนอนวดไทย (ภายใต้ชื่อ NUAD THAI) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ด้วยนวดไทย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่เป็นศาสตร์และศิลป์ทางการแพทย์ดั้งเดิมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นและพระพุทธศาสนา และเป็นการรักษาทางเลือกควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตามแบบแผนตะวันตกสมัยใหม่ มีองค์กรที่ส่งเสริมและพัฒนาการนวดมากกว่า ๕๐ องค์กร อาทิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รวมถึงภาควิชาชีพ ได้แก่ สภาการแพทย์แผนไทย และยังมีสถาบันการเรียนการสอน สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ มีการใช้นวดไทยในการดูแลสุขภาพในครัวเรือนและชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ มีหมอนวดพื้นบ้านทั้งประเทศรวม ๒๕,๒๐๕ คน มีบุคลากร สถานประกอบการเอกชนที่ให้บริการนวดไทยเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพทุกจังหวัด
นวดไทย นอกจากจะได้รับความนิยมในประเทศไทย แล้ว เว็บไซต์เดลี่เมล์ สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า ก่อนที่ยูเนสโกจะประกาศให้นวดไทยเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาอย่างเป็นทางการนั้น การนวดไทย ศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่มีอายุมากกว่า ๒,๐๐๐ ปีของไทย เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความนิยมเดินทางมาใช้บริการแล้ว มีจำนวนมากที่สมัครเรียนนวดแผนไทยในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่วัด วัดโพธิ์ มีผู้สำเร็จวิชานวดแผนไทยตำรับวัดโพธิ์ไปแล้วมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน จาก ๑๔๕ ประเทศทั่วโลก เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากแก่หมอนวดแผนไทยตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และฮ่องกง
นายอิทธิพล ยังเปิดเผยว่า ที่ นวดไทย ได้รับการรับรอง ด้วยมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก ประกอบด้วย ๑) นวดไทยสอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่นิยามไว้ในมาตรา ๒ ของอนุสัญญาฯ จัดอยู่ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เป็นภูมิปัญญาที่มีพัฒนาการเริ่มในระดับครอบครัวและชุมชนเกษตรกรรม และพัฒนาต่อเนื่องมาจนเป็นศาสตร์ในการดูแลสุขภาพที่ใช้มือหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการปรับพลังและโครงสร้างของร่างกายโดยไม่ใช้ยา เพื่อบำบัดความเจ็บป่วยที่เกิดจากลมในเส้นติดขัด และทำให้ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายเป็นปกติ ๒) การขึ้นทะเบียนนวดไทยจะเป็นประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก และสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ จะกระตุ้นให้นานาชาติสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหมอนวดไทย คนในชาติร่วมกันปกป้องภูมิปัญญาการนวดไทยไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางเสื่อมเสีย นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนา อาทิ การคิดค้นอุปกรณ์ช่วยนวดที่เหมาะสมกับกลุ่มชน ๓) มีมาตรการส่งเสริมและรักษาอย่างละเอียด ที่สามารถคุ้มครองและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาฯ นั้นได้ โดยรัฐไทยมีการรับรองสถานภาพทางกฎหมายของภูมิปัญญาการนวดไทย โดยได้วางระบบการคุ้มครองสิทธิในภูมิปัญญาทั้งที่เป็นของชาติและของบุคคล กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการนวดไทย ทั้งด้านหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านผู้นวด ด้านการให้บริการ และด้านสถานที่ให้บริการ รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน
และคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ๔) ชุมชน กลุ่มคน และ ปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม ได้รับทราบ ให้ความเห็นชอบและยินยอมพร้อมใจอย่างกว้างขวาง ในการเสนอนวดไทย ซึ่งมีการดำเนินการใน ๔ ด้านประกอบด้วย การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้ง ๔ ภูมิภาค จำนวน ๖ ครั้ง ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ หมอนวดไทย นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ๓ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับนวด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและประธานคณะกรรมการเป็นผู้ลงนามในใบยินยอม มีการลงพื้นที่ชุมชนที่ดำเนินงานนวดไทย ๑๐ พื้นที่ และเครือข่ายที่ทำงานด้านนวดไทย ได้จัดประชุมในชุมชนของตนเอง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในทุกพื้นที่ร่วมลงนามใบยินยอมด้วยความสมัครใจ ๕) นวดไทย ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในสาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้ว
นายอิทธิพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมฯ ของไทย กับยูเนสโก นี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ถือเป็นสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการพัฒนาการส่งเสริมรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติและผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการยืนยันบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยประเทศไทยจะถูกจารึกไว้ในรายชื่อประเทศที่ตระหนักและเห็นคุณค่าชนกลุ่มน้อยและชุมชนระดับนานาชาติ และจะไม่ทำอะไรที่มีผลเสียต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แบบไม่เหมาะสม ทั้งนี้ การขอขึ้นทะเบียนรายการนวดไทยต่อยูเนสโก จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ สืบทอด สร้างความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมนวดไทย อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เตรียมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนไทย มีส่วนร่วมในโอกาสที่นวดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก อาทิ ๑)การจัดงานแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทย ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๖๒ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ๒)กิจกรรมประชาสัมพันธ์ นวดไทย มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๖๒ ณ ทำเนียบรัฐบาล ๓)สร้างความตระหนักรับรู้คุณค่าความสำคัญเรื่องนวดไทยให้กับสื่อมวลชน/ประชาชน/เยาวชน โดยประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ โดยจัดทำเป็น ๒ ภาษา (ภาษาไทย – ภาษาอังกฤษ) ๔)สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและสืบสานองค์ความรู้ของชุมชน เรื่อง นวดไทย ๕)การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล/กลุ่มบุคคล/ชุมชน/องค์กร ที่มีการส่งเสริมการสืบสาน นวดไทย และ ๖)จัดงานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นวดไทย มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เสนอกลไกการดำเนินการที่สำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศฯ ในประเด็นการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ในคราวการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ ๔/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย ๑) การจัดทำมาตรฐานการนวดไทย ได้แก่ การพัฒนาด้านองค์ความรู้ การพัฒนาด้านหลักสูตรการนวดไทย การพัฒนาด้านระบบบริการนวดไทย ๒) การประเมินและรับรองมาตรฐานการนวดไทยในประเทศ (Certification Body) ๓)การสร้างอัตลักษณ์ “นวดไทย” สู่ระดับโลก ได้แก่ การยกย่องเชิดชูเกียรติ หมอไทยแห่งชาติ สาขานวดไทย พิพิธภัณฑ์การนวดไทยและรูปหล่อฤาษีดัดตนขนาดใหญ่ (Landmark of Bangkok) และ ๔) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการนวดไทย
————————–