วันนี้ (13 ธ.ค. 62) เวลา 09.30 น. ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) จังหวัดนนทบุรี นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “โครงการทันตกรรมเพื่อผู้ใช้บริการในความอุปการะของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ระหว่าง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้ใช้บริการในความอุปการะ และบุคลากร ของ พก. กลุ่มหน่วยงานปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมี ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีงาน
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การให้คำแนะนำและช่วยเหลือคนพิการให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการ การส่งเสริมอาชีพ การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ตลอดจนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ โดยเฉพาะตามมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ที่คนพิการมีสิทธิได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งบริการทันตกรรมเป็นบริการทางการแพทย์ประเภทหนึ่ง ตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ให้บริการคนพิการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะคนพิการในความอุปการะของ พก. ซึ่งมีความพิการทางสติปัญญา การเรียนรู้ การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ที่มีปัญหาและไม่สามารถดูแลสุขภาพในช่องปากของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า พก. จึงตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพอนามัยในช่องปาก ดังนั้นเพื่อให้การบริการทันตกรรมแก่ผู้ใช้บริการในความอุปการะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้านทันตกรรมเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “โครงการทันตกรรมเพื่อผู้ใช้บริการในความอุปการะของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ระหว่าง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการบรรเทาปัญหาสุขภาพและดูแลช่องปากของผู้ใช้บริการในความอุปการะของ พก. กลุ่มหน่วยงานปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ให้ได้รับบริการทันตกรรม สามารถเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์ 2) ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการที่มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเพิ่มพูนทักษะและการปฏิบัติงานดูแลด้านทันตกรรมที่มีต่อคนพิการในความอุปการะที่มีปัญหาด้านสุขภาพทันตกรรม อีกทั้ง ได้สร้างเจตคติที่ดีระหว่างคนพิการและนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3) เพื่อเป็นสวัสดิการด้านบริการทันตกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการ รวม 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร. สุชิต พูลทอง คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการทันตกรรมเพื่อผู้ใช้บริการในความอุปการะ ระหว่าง พก. กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพช่องปากสำหรับผู้อยู่ในความอุปการะ และบุคลากร ในของ พก. กลุ่มหน่วยงานปากเกร็ด รวมทั้งให้เป็นสถานที่ศึกษาต่อเนื่องและฝึกปฎิบัติงานของนิสิตทันตแพทย์ระดับหลังปริญญาและการอบรมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของคณะ เพื่อส่งเสริมให้นิสิตทันตแพทย์มีจิตอาสา จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นและยินดีที่จะต่อสัญญาเพื่อให้โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อไป
สำหรับความร่วมมือของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1) จัดหาทันตแพทย์ นิสิตทันตแพทย์ระดับหลังปริญญาและทันตแพทย์ผู้ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและบุคลากรของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้บริการทางทันตกรรมและทันตกรรมป้องกันแก่ผู้ใช้บริการ 2) จัดทำโครงการทันตกรรมเพื่อผู้ใช้บริการในความอุปการะของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและจัดไว้ในหลักสูตรของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) จัดทำโครงการทันตกรรมป้องกันและส่งเสริมสุขภาพช่องปากสำหรับผู้ใช้บริการในความอุปการะของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 4) วางแผนจัดทำงบประมาณเพื่อการจัดซื้อทันตวัสดุอุปกรณ์บางส่วนเพื่อใช้ในการดำเนินการของโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม 5) จัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการบริการและจัดเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของโครงการ 6) รายงานผลการดำเนินโครงการ และจัดการประชุมร่วมเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ 7) ประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการร่วมกับ พก.
“ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการทันตกรรมเพื่อผู้ใช้บริการในความอุปการะ ระหว่าง พก. กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการร่วมบูรณาการและขับเคลื่อนการบริการทันตกรรมให้แก่คนพิการ ในความอุปการะในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จะทำให้ผู้ใช้บริการในความอุปการะทั้งที่เป็นคนพิการ รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. ได้รับการส่งเสริมสุขภาพอนามัยช่องปากที่ดีและบริการทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถเป็นโครงการต้นแบบให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ต่อไป” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย
/////////////////////////