อย. จัดประชุมทวิภาคีด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ครั้งที่ 4 หารือความร่วมมือทางวิชาการกับ สปป.ลาว นำไปสู่การดำเนินการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างสองประเทศให้ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ไทย – ลาวในปัจจุบันดำเนินไปอย่างราบรื่นใกล้ชิด และมีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเกื้อกูล ได้แก่ ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย และกรมอาหารและยา (Food and Drug Department : FDD) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลและ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ได้มีการจัดประชุมทวิภาคีด้านความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์สุขภาพมาแล้ว จำนวน 3 ครั้ง และมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งด้านอาหาร เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย วัตถุเสพติด และด่านอาหารและยา เพื่อให้บุคลากรทั้งสองฝ่ายมีความรู้และความเข้าใจระบบ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ และนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของทั้งสองประเทศมีความปลอดภัย
สำหรับการประชุมทวิภาคีกับประเทศไทย ด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยมี ดร. สมทวี จางวิสมมิตร หัวหน้ากรมอาหารและยา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมคณะ ได้เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือความร่วมมือต่อไป ในปี พ.ศ. 2563-2565 ตามแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 โดยจะมีความร่วมมือกันต่อไปในทุกด้าน เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและทางสาธารณสุข วัตถุเสพติด ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงด่านอาหารและยา
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่าง อย. ประเทศไทยและกรมอาหารและยา สปป.ลาว ทำให้ทั้งสองประเทศได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการนำไปใช้ดำเนินงานในอนาคต ทำให้การดำเนินการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างสองประเทศปลอดภัยได้มาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
****************************************