นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การซื้อขายออนไลน์ เป็นเทรนด์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในปี 2561 ไทยมีมูลค่าการค้าขายในระบบอีคอมเมิร์ช (E-Commerce) กว่า 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการผลักดันสินค้าเกษตรออนไลน์ เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ สู่ไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 ในการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญตามแนวทางนโยบายตลาดนำการเกษตร
ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้เดินหน้ายกระดับตลาดเกษตร 4.0 พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ในลักษณะเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ DGTFarm หรือ ดิจิตอลฟาร์ม ผ่านทาง www.dgtfarm.com และ อตก. เดลิเวอรี่ ผ่านทาง www.ortorkor.com ซึ่งวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำลังขยายความร่วมมือก้าวไปอีกขั้น สู่แพลตฟอร์มลาซาด้า ผู้นำอีคอมเมิร์ช ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้มีการหารือเบื้องต้นกับทีมบริหารงานผู้ขายลาซาด้า เพื่อสร้างโอกาสร่วมกันให้กับสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทย
การจับมือร่วมกันในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ กับ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ต่างเล็งเห็นถึงโอกาสสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรให้ไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาความรู้แบบยั่งยืนโดย สามารถเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อนำสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นอกจากจะช่วยในเรื่องการเพิ่มช่องทางการตลาด ให้เกษตรกรได้กระจายผลผลิตในช่วงผลผลิตออกตลาดมากแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด สามารถทำความรู้จักกับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง ทำการซื้อขายกับผู้ซื้อ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด ลดความเหลื่อมล้ำ และยังสามารถนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ดี จากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง
รัฐมนตรี เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มเปิดตัวโครงการต้นปี 2563 เป็นของขวัญปีใหม่ ให้แก่เกษตรกร โดยจัดกิจกรรมอบรมทักษะให้เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้สามารถขายสินค้าผ่านลาซาด้า โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรฯ และทีมงานมหาวิทยาลัยลาซาด้า ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ การสมัครเป็นผู้ขาย การใช้ระบบต่างๆ ไปจนถึงเทคนิคการโปรโมทสินค้าเพื่อทำให้ร้านค้ามีความน่าสนใจ การตกแต่งร้านค้าให้โดดเด่น รวมถึง การใช้เครื่องมือต่างๆเพื่อถ่ายภาพสินค้า การทำคลิปวีดีโอ การบรรจุผลิตภัณฑ์ และขนส่งไปจนถึงการร่วมแคมเปญ และกิจกรรมการตลาดต่างๆ ของ ลาซาด้า เพื่อกระตุ้นยอดขาย ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะพัฒนาให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ การแปรรูป และบรรจุสินค้าให้ได้มาตรฐานไปพร้อมๆ กัน
ในขั้นตอนแรกจะเน้นจัดกิจกรรมอบรมให้แก่กลุ่มเกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มYoung Smart Farmer ซึ่งปัจจุบัน มีแปลงใหญ่กว่า 6,000 แปลง เกษตรกรมากกว่า 350,000 ราย ในขณะที่สหกรณ์การเกษตรกว่า 3,000 แห่ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 86,000 แห่งทั่วประเทศ และ Young Smart Farmer มากกว่า 11,000 ราย ซึ่งมีสินค้าเกษตรคุณภาพจำนวนหลากหลาย ทั้งกลุ่มพืช พืชผัก/สมุนไพร ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง แมลงเศรษฐกิจ รวมไปถึงกลุ่มของใช้ต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า ของตกแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่มาจากผลผลิตภาคเกษตรคุณภาพดี ซึ่งพร้อมจะพัฒนา และแปรรูปจำหน่ายสู่มือผู้บริโภคกับลาซาด้า โดยตรง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อตกลงกับลาซาด้า และจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไปซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นการเปิดโอกาส และเป็นมิติใหม่ให้แก่เกษตรกรที่มีความสนใจและยังไม่เคยมีประสบการณ์ขายของออนไลน์ได้เรียนรู้การขายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการเป็นผู้จำหน่ายสินค้าด้วยตนเอง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 โดยกระทรวงเกษตรฯ ยังเล็งช่องทางการตลาดออนไลน์โดยขยายไปสู่แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์รายอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งในประเทศไปจนถึงสู่ลูกค้าต่างประเทศในอนาคตต่อไป
———————————————-