ชป.เข้มคุมการใช้น้ำในอ่างฯใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ให้เพียงพอใช้ตลอดแล้งนี้

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักค่อนข้างน้อย หลายมีปริมาณน้ำในอ่างฯน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ กรมชลประทาน กำชับทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังและคุมเข้มการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด พร้อมวอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (11 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 45,469 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,988 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน(11 ธ.ค.62) มีจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 73 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 59 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 47 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 10 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกัก 520 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา  มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 24 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 21 ล้าน ลบ.ม. ,อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 286 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 283 ล้าน ลบ.ม.  อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 37 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 20 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 62 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 124 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 94 ล้าน ลบ.ม.

          ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะสงวนไว้ใช้สนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น กรมชลประทาน จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า รวมทั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ ลำคลอง และระบบนิเวศต่างๆ อีกด้วย  

*****************************

 ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์