ชป.ลงพื้นที่ชี้แจงชาวนาบางบาล น้ำต้นทุนปีนี้มีน้อย ไม่เพียงพอให้ทำนาปรัง

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี ชาวนาบางบาล สุดช้ำ รับน้ำแทนคนทั้งประเทศ แต่คนพื้นที่ไม่ได้อะไร เคราะห์ซ้ำฤดูแล้งชลประทานห้ามทำนา เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำให้ชาวนาทุ่งบางบาลในการทำนาปรังในปีนี้ได้ อีกทั้ง เกษตรกรชาวบางบาลถูกทำให้จำยอมโดยนโยบายในการรับสภาพเป็นพื้นที่รับน้ำ พร้อมตั้งข้อสังเกต ทำไมไม่เอาน้ำเข้าทุ่งในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมานั้น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สำหรับพื้นที่ ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ “ทุ่งบางบาล” มีพื้นที่ชลประทาน จำนวน 3,425 ไร่ ประกอบกับทุ่งบางบาลเดิมเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมักถูกน้ำท่วมเป็นประจำ ชาวนาจะปลูกข้าวฟางลอยพื้นเมืองเป็นหลัก เมื่อก่อนนั้นจะทำนาได้ปีละครั้ง ต่อมากรมชลประทานได้ทำคันกั้นน้ำล้อมรอบทุ่งบางบาล เพื่อไม่ให้ถูกน้ำท่วมในบางปีที่มีน้ำหลาก และยังได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สูบน้ำไปใช้ทำนาปรังในบางปีที่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ จากที่ไม่เคยทำนาปรังมาก่อนในอดีต ทำให้สามารถทำนาได้ปีละสองครั้งในปีนั้น

สำหรับแนวคิดเรื่องพื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งบางบาล นับได้ว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่ชาวนาจะสามารถปลูกข้าวได้ก่อนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อหนีน้ำท่วมหากมีน้ำหลากในปีนั้น ซึ่งกรมชลประทานจะได้ประโยชน์ในการขอใช้ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อเอาน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง หลังจากที่ชาวนาได้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จหมดแล้ว เรียกว่าการตัดยอดน้ำหลาก ซึ่งได้มีการทำข้อตกลงกับเกษตรกรในพื้นที่และยินยอมให้ดำเนินการได้ โดยไม่ได้มีการบังคับให้ต้องสมยอมแต่อย่างใด ส่วนปีไหนที่ไม่มีน้ำหลาก จะไม่มีการตัดยอดน้ำเข้าไปฝากเก็บไว้ให้ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมในช่วงฤดูฝนปี 62 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ถึงไม่มีการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ ลุ่มต่ำทุ่งบางบาล ขอชี้แจงว่า เนื่องจากในปีนี้พื้นที่ตอนบนมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ จึงไม่มีน้ำหลากเกิดขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในทางสอดคล้องกันก็ทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อยตามไปด้วย ทำให้ไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง อีกทั้งการตัดยอดน้ำเข้าทุ่งในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จะต้องทำการสูบน้ำเข้าทุ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ควรทำ เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากโดยเปล่าประโยชน์

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะดำเนินการโดยดูภาพรวมทั้งระบบ เนื่องจากมีการใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งเดียวกัน ไม่ได้มีการจัดสรรน้ำเป็นการเฉพาะหรือเห็นแก่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนปี 2562 มีอยู่น้อยมาก สามารถจัดสรรได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า เพราะถ้าหากไม่สำรองน้ำไว้และเกิดกรณีไม่มีฝนตกลงมาในช่วงต้นฤดูฝน จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และน้ำรักษาระบบนิเวศ ความเค็มอาจจะดันเข้ามาจนถึงจังหวัดอยุธยาได้ ดังนั้น ในปีนี้ จึงไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาปรังและการเกษตรอื่นๆ ส่วนในบางพื้นที่ที่ได้ทำนาปรังไปแล้ว กรมชลประทาน ไม่ได้ส่งน้ำให้ทำนาปรังแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา นายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล พร้อมด้วยนายอำเภอบางบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ ต.บางชะนี อ.บางบาล เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึงแล้ว จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน หากมีข้อสงสัยประการใด ติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน หมายเลข 1460

 *************************************

กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

11  ธันวาคม  2562