ลุ่มเจ้าพระยาแล้งนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย กรมชลประทาน ขอทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ พร้อมร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,524 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 4,828 ล้าน ลบ.ม.
โดยปัจจุบันที่เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,748 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,948 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำ 5,017 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 2,167 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 468 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 425 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำ 293 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 290 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง รวมกันวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น
สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก อาทิ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยมีการเฝ้าระวังสถานีที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.19 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี วัดได้ 0.09 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) , แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา วัดได้ 0.20 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และแม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.13 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทาน จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำและบริหารจัดการน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จำกัดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และให้ร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอใช้ไปตลอดฤดูแล้งนี้อย่างไม่ขาดขาดแคลน
**********************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
9 ธันวาคม 256