เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนาวาเอกจิระ มิตรดี รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล จังหวัดเพชรบุรี นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการขึ้นทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร
ตามที่รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการกองเรือขนาดเล็กโดยออกประกาศให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส ทั้งที่มีทะเบียนเรือไทย และไม่มีทะเบียนเรือดำเนินการแจ้งต่อหน่วยงานกรมเจ้าท่าที่เรือจอดอยู่เพื่อทำการตรวจวัดขนาดและจัดทำอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของเรือและยังไม่ได้จดทะเบียนเรือไทย ให้ยื่นขอหนังสือรับรองจากกรมประมง เพื่อนำไปประกอบการจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าหลังการตรวจวัดขนาดและจัดทำอัตลักษณ์ โดยให้ยื่นขอหนังสือรับรองได้ที่พื้นที่ประมงกรุงเทพมหานคร กรมประมง ส่วนในต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอท้องที่ติดทะเลทั้ง 22 จังหวัด ภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 นั้น
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าว หลังจากที่กรมประมงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้และเริ่มดำเนินการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่าชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี มีการเดินทางเข้ามาขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานในสังกัดกรมประมงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีจำนวนรวมกว่า2,885 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2562)
ในโอกาสนี้ กรมประมงจึงได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการออกหน่วยบริการเพื่อออกใบรับรองสำหรับเรือประมงพื้นบ้านให้แก่ชาวประมง พร้อมพบปะพูดคุยกับผู้นำชาวประมงถึงปัญหาในการประกอบอาชีพ ซึ่งจังหวัดเพชรบุรีถือเป็นพื้นที่ที่มีการทำประมงพื้นบ้านอย่างหลากหลาย อาทิ การทำประมงด้วยเครื่องมือตะกร้อเก็บหอย เบ็ดมือ ลอบปู ลอบหมึกสาย ลอบหอยหวาน อวนครอบหมึก อวนจมกุ้ง อวนจมปู อวนจมปลา อวนติดตา อวนแมงกะพรุน และอวนลอยปลา เป็นต้น ทั้งนี้ จากการออกหน่วยบริการดังกล่าวทำให้ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีตื่นตัวเป็นอย่างมากกับการขอหนังสือรับรองจากกรมประมงเพื่อนำไปประกอบการจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าแล้ว จำนวน 142 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2562) ซึ่งคาดว่าจะมีเรือประมงพื้นบ้านที่ยังไม่ได้มาจดทะเบียนเรือของจังหวัดเพชรบุรี อีกประมาณ 1,000 ลำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อื่นๆ กรมประมงขอเน้นย้ำว่า เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของตน ขอให้เจ้าของเรือประมงพื้นบ้านทุกลำไปแจ้งขอตรวจวัดเรือกับหน่วยงานกรมเจ้าท่า ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ส่วนเรือที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเรือต้องมายื่นขอหนังสือรับรองจากกรมประมง ภายใน 27 ธันวาคม 2562 นี้เท่านั้น หากมีข้อสอบถามให้ติดต่อได้ที่กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02-561 1418 ในวันและเวลาราชการ
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า และเนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร คณะผู้บริหารกรมประมงและสื่อมวลชนจึงได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่ทะเลเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ณ บริเวณธนาคารปูม้าหาดเจ้าสำราญ-แหลมผักเบี้ย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โดยพันธุ์สัตว์น้ำที่ใช้ปล่อย ประกอบด้วย กุ้งแชบ๊วย ขนาด P15 จำนวน 299,999 ตัว ปลานวลจันทร์ทะเล ขนาด 5-6 นิ้ว จำนวน 999 ตัว และปูม้า ขนาดกระดองกว้าง 8-10 เซนติเมตร จำนวน 99 ตัว
เอกสารประกอบการแถลงข่าว การจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน
โดยอธิบดีกรมประมง (นายมีศักดิ์ ภักดีคง) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุมกุลาดำ อาคารจุฬาภรณ์ ชั้น 7 กรมประมง
- ตามที่รัฐบาลได้มุ่งมั่นในการบริหารจัดการกองเรือประมงไทย ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับการทำการประมงอย่างรับผิดชอบและถูกกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องจนนำประเทศไทยไปสู่ใบเขียว จากสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562
- ในช่วงแรก ของการจัดการปฏิรูปกองเรือประมงไทย รัฐบาล ได้มุ่งเน้นไปที่กองเรือประมงพาณิชย์ หรือเรือประมงขนาดใหญ่ มาสู่รอบนี้ซึ่งเป็นการบริหารจัดการกองเรือขนาดเล็ก ซึ่งเป็นชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ และหารายได้เลี้ยงชีพจากการทำการประมง อย่างแท้จริง
- ที่ผ่านมารัฐบาล รับรู้ปัญหาของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านตลอดมาเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการเปิดให้จดทะเบียนเรือพื้นบ้าน ซึ่งมี อยู่มากกว่า 20,000 ลำ ในท้องที่จังหวัดชายทะเล
- รัฐบาลจึงประกาศให้มีการจดทะเบียนเรือพื้นบ้าน ทั้งที่ มีทะเบียนเรือไทย และไม่มีทะเบียนเรือไทย ที่มีขนาดไม่ถึง 10 ตันกรอส นำเรือมาให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือ โดยยื่นคำขอ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ทั้ง 22 จังหวัด ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2562
- กรณีเรือที่มีทะเบียนเรืออยู่แล้ว เมื่อกรมเจ้าท่าตรวจวัดขนาดเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะทำการแก้ไขรายการในใบทะเบียนเรือและใบอนุญาตใช้เรือ หากมีขนาดสิบตันกรอสขึ้นไป ให้ทำการประมงพื้นบ้านได้จนกว่ากรมประมงจะเปิดให้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง 2563
- กรณีเรือที่ยังไม่มีทะเบียนเรือไทย เจ้าของเรือต้องมีหนังสือรับรองจากกรมประมง เพื่อประกอบการขอจดทะเบียนเรือไทยกับกรมเจ้าท่าภายหลังการตรวจวัดขนาด และจัดทำอัตลักษณ์เรือ
- การขอหนังสือรับรองจากกรมประมง มีหลักเกณฑ์และขั้นตอน ดังนี้
o ช่วงเวลาในการยื่นคำขอ ตั้งแต่วันที่ 2 – 27 ธันวาคม 2562
o สถานที่ยื่นคำขอ
- ในกรุงเทพมาหานคร ยื่น ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง
- ในจังหวัดอื่น ยื่นได้ ณ สำนักงานประมงจังหวัด หรือสำนักงานประมงอำเภอท้องที่ติดทะเล ทั้ง 22 จังหวัด 100 อำเภอ
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นคำขอ
- แสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตร ประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจ)
- หนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ปกครอง (กรณีที่ผู้ขอยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
- ภาพถ่ายเรือประมงเต็มลำ ทั้งทางด้านซ้าย1รูปและด้านขวา1 รูป
หลักเกณฑ์ในการออกหนังสือรับรองเรือพื้นบ้าน ของกรมประมง
- คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับหนังสือรับรองฯ
1) เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- คุณสมบัติของเรือที่จะได้รับหนังสือรับรอง
1) เรือประมงจะต้องมีขนาดไม่ถึง 10 ตันกรอส
2) เป็นเรือที่ใช้ทำการประมง หรือทำการประมงและบรรทุกคนโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
3) เป็นเรือที่ไม่เคยถูกใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
4) เป็นเรือที่ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
- หลักเกณฑ์ด้านการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ
1) มีความสอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่
สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน
2) กรมประมงจะพิจารณาออกหนังสือรับรองให้จดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 1 คน ต่อ 1 ลำ
- กรณีเรือที่ยังไม่มีทะเบียนเรือไทย และมีขนาดภายหลังการตรวจวัดขนาดและจัดทำอัตลักษณ์ของกรมเจ้าท่าแล้ว มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ซึ่งจัดเป็นเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง เมื่อกรมประมงจะพิจารณาในการออกหนังสือรับรองอีกครั้งภายหลังได้รับข้อมูลการตรวจวัดขนาดเรือทั้งหมดจากกรมเจ้าท่า
- และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในการเปิดให้จดทะเบียนเรือประมงแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ในครั้งนี้กรมประมง ได้สั่งการให้ประมงจังหวัดบูรณาการในการทำงานกับหน่วยงานสังกัดกรมประมงในพื้นที่ อำนวยความสะดวกแก่ชาวประมงทั้งในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เกาะแก่งต่างๆ ในทุกช่องทาง เพื่อให้เรือทุกลำได้รับการจดทะเบียนเบียนเรือเป็น 100 % ในทุกจังหวัด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของตนเอง ขอเน้นย้ำว่าให้พี่น้องชาวประมงที่เป็นเจ้าของเรือประมง พื้นบ้านทุกลำ ทั้งที่มีทะเบียนเรือและยังไม่มีทะเบียนเรือ ต้องไปแจ้งขอตรวจวัดขนาดและจัดทำอัตลักษณ์เรือต่อหน่วยงานกรมเจ้าท่าในท้องที่จังหวัดชายทะเล ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ส่วนเรือที่ยังไม่มีทะเบียนเรือ ให้เจ้าของเรือหรือผู้รับมอบอำนาจ ยื่นขอหนังสือรับรองจากกรมประมง ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง สำนักงานประมงอำเภอ หรือสำนักงานประมงจังหวัดท้องที่ติดทะเล ทุกจังหวัด ภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 หากมีข้อสอบถามให้ติดต่อได้ที่กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทาการประมง กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02-561 1418 ในวันและเวลาราชการ