กรมพัฒน์ฯ ขานรับนโยบาย Zero Copy รองรับ Thailand 4.0

กรมพัฒน์ฯ ขานรับนโยบาย Zero Copy รองรับ Thailand 4.0 ประกาศยกเลิกรับสำเนาเอกสารบัตรปชช. หรือสำเนาทะเบียนบ้าน แค่หยิบเอกสารจริงมาโชว์ก็จบ…ลดขั้นตอน ลดกระดาษ

                กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกประกาศยกเลิกรับ ‘สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน’ อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน ลดเวลาเตรียมเอกสาร และค่าใช้จ่าย มีสาระสำคัญ 3 ข้อ 1) นายทะเบียนงดรับสำเนา (แสดงแค่เอกสารตัวจริง) 2) หากต้องใช้สำเนาให้นายทะเบียนถ่ายเอกสารเอง ไม่มีค่าใช้จ่าย และ 3) กรณีมอบอำนาจ ยังจำเป็นต้องใช้สำเนาเพื่อความปลอดภัยในการยืนยันตัวตน ตอกย้ำการนำพาประเทศไทยไปสู่ Digital e-government ตามนโยบายรัฐบาล

                นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านสำหรับการติดต่อราชการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานของภาครัฐที่ให้บริการจดทะเบียนธุรกิจ จึงได้ออกประกาศเรื่อง “การยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน” มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2561 เพื่อเป็นการรองรับแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายให้อำนวยความสะดวกมากที่สุด แก่ภาคธุรกิจและผู้มาติดต่อราชการ ทั้งด้านการยื่นเอกสารประกอบการจดทะเบียน การอนุญาต และการออกหนังสือรับรอง

อธิบดี กล่าวต่อว่า “สำหรับใจความสำคัญของประกาศ ประกอบไปด้วย  3 ข้อ กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้   1) ห้ามมิให้นายทะเบียน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านจากผู้มาติดต่อราชการ โดยแค่นำบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านตัวจริงมาแสดงเท่านั้น 2) หากจำเป็นต้องเรียกสำเนาดังกล่าว ให้ขอเอกสารตัวจริงจากผู้มาติดต่อเพื่อนำมาสำเนา โดยไม่ต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการสำเนา และ 3) กรณีการมอบอำนาจ ยังคงต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน และวัตถุประสงค์ในการติดต่อราชการในเรื่องนั้นๆ”

“ประกาศของกรมฯ ในการยกเลิกรับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านในครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำการอำนวยความสะดวกในการลดระยะเวลาการจัดเตรียมเอกสาร ประหยัดค่าใช้จ่ายในการถ่ายสำเนา และในภาพรวมระดับประเทศยังช่วยผลักดันการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital e-government) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐเข้าไว้ด้วยกันด้วยเทคโนโลยี การปรับลดขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ลดภาระของภาคธุรกิจในการติดต่อกับหน่วยงานของภาครัฐ และประหยัดทรัพยากรทางธรรมชาติ (กระดาษ)” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด

****************************************

ที่มา : สำนักกฎหมาย