กรมควบคุมโรค พัฒนารูปแบบการดำเนินงานมาลาเรียชุมชน ในหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันที

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพัฒนารูปแบบการดำเนินงานมาลาเรียชุมชน ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย มีเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโดยใช้ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียอย่างรวดเร็ว (Malaria rapid diagnostic test    หรือ RDT) ที่ให้ความสะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการใช้งาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงด้านการแพทย์ รวมทั้งชุดตรวจนี้มีความจำเพาะสูงต่อเชื้อมาลาเรีย สามารถให้ผลการวินิจฉัยและนำไปสู่รักษาในสถานบริการตรวจระดับหมู่บ้าน     ได้อย่างรวดเร็ว

วันที่ 6 ธันวาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 8 รางวัล จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่ง 1 ใน 8 รางวัลผลงานคุณภาพได้แก่ ผลงาน มาลาเรียชุมชน : บริการที่เข้าถึงการตรวจรักษามาลาเรีย ในหมู่บ้านแพร่เชื้อ ของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดี      ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดการป่วยจากโรคไข้มาลาเรีย โดยการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพในระดับชุมชน ภายใต้การสนับสนุนจากเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งช่วยเพิ่มความครอบคลุมและการเข้าถึงบริการตรวจรักษาให้กับทุกกลุ่มประชากร อย่างเท่าเทียม

ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย จากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่าในปี 2562 พบผู้ป่วยจำนวน 5,834 ราย    โดยพบในพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 5,604 ราย ได้แก่ ชายแดนไทย-เมียนมาร์ จำนวน 3,070 ราย จังหวัดชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 1,795 ราย และชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 739 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรคไข้มาลาเรียจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขด้านโรคติดต่อชายแดนที่สำคัญ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การเข้าถึงบริการตรวจรักษาโรคไข้มาลาเรียเป็นประเด็นที่สำคัญเนื่องจากส่วนใหญ่การติดเชื้อพบในพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นพื้นที่ป่าเขา ทำให้การเข้าถึงบริการค่อนข้างยากลำบากและไม่ทั่วถึง ประกอบกับบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อการให้บริการ จึงได้มีการดำเนินการมาลาเรียชุมชน โดยการจัดตั้งในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย ทำหน้าที่ให้บริการตรวจวินิฉัยและรักษาโรคไข้มาลาเรีย โดยใช้แนวคิดในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียซึ่งปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยโรคไข้มาลาเรีย โดยใช้ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียอย่างรวดเร็ว (Malaria rapid diagnostic test หรือ RDT) ที่ให้ความสะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการใช้งาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญขั้นสูงด้านการแพทย์ รวมทั้งชุดตรวจนี้มีความจำเพาะสูงต่อเชื้อมาลาเรีย 2.การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลตนเอง โดยการจัดตั้งมาลาเรียชุมชนเพื่อให้ชุมชนที่อาศัยอยู่มีสุขภาพดี ปลอดจากภัยสุขภาพ เนื่องจากโรคไข้มาลาเรียถือเป็นโรคประจำถิ่น 3.การพัฒนาศักยภาพพนักงานมาลาเรียชุมชน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการตรวจรักษาโรคไข้มาลาเรียได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ดำเนินการอบรมพร้อมกับสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ทางการแพทย์ ชุดตรวจหาเชื้อ พร้อมยารักษามาลาเรีย

ด้านแพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานมาลาเรียชุมชน ได้ถูกบรรจุให้เป็นกิจกรรมสำคัญที่ควรดำเนินการให้พื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียในแผนปฏิบัติการการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ. 2560-2569 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรีย ภายในปี 2567 ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติเป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าประสงค์ที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆภายในปี 2573

จากการดำเนินงานมาลาเรียชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคไข้มาลาเรียในระดับหมู่บ้าน ได้อย่างทั่วถึง ทั้งคนไทยและต่างชาติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ทั้งนี้ มาลาเรียชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

*******************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค