กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สั่งการหน่วยงานในสังกัด ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเตือนประชาชนระวังป่วย 3 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายหรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ได้ เช่น อันตรายจากลมพายุ อุบัติเหตุจากการจราจร การจมน้ำ รวมถึงสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ      แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ

วันที่ 4 ธันวาคม 2562 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ในภาคใต้ของประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนอง และบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง นั้น กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการและมีภารกิจหลักในการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพของประชาชน ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน จึงสั่งการไปยังกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม โดยจัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) ตรวจจับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (JIT) ในการร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ กรณีเกิดการระบาดของโรค และเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว

สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วมมี 3 กลุ่มโรคสำคัญ ดังนี้ 1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 2.กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง       และ 3.กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม คือ โรคไข้ฉี่หนู โรคตาแดง โรคผิวหนัง และโรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง ได้แก่ อันตรายหรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น อันตรายจากลมพายุ อุบัติเหตุจากการจราจร การจมน้ำ รวมถึงสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ระมัดระวัง ติดตามข่าวสารจากทางราชการ และปฏิบัติดังนี้ 1.อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2.อย่าปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัด ต่อยได้  3.หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด 4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง และ 5.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมา กับน้ำท่วม นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ห้ามแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊ก เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วทำให้ไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “3 ห้าม 2 ให้” โดย 3 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามเล่นน้ำ 2.ห้ามหาปลา/เก็บผัก 3.ห้ามดื่มสุรา และ 2 ให้ ได้แก่ 1.ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอน/ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา  2.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อคอยช่วยเหลือกัน และขอให้ประชาชนระวังสัตว์มีพิษกัดต่อย เนื่องจากในช่วงที่ฝนตกและมีน้ำท่วมฉับพลัน อาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน เช่น ในรองเท้า หรือตู้เก็บของในครัว เป็นต้น โดยตรวจสอบจุดต่างๆ ของบ้านให้ดี และควรป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษกัดต่อย โดยไม่เข้าไปในที่รก หากต้องลุยน้ำควรแต่งกายให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาว สวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและหุ้มปลายขากางเกงทั้งสองข้างแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปในกางเกง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

*********************************************

ข้อมูลจาก : กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค