ชป.เชียงใหม่ เผยแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน

โครงการชลประทานเชียงใหม่ เผยแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน ในภาวะน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆอยู่ในเกณฑ์น้อย วอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด และช่วยกันประหยัดน้ำให้มากที่สุด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ปัจจุบันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตร ในพื้นที่ของโครงการชลประทานแม่แฝก-แม่งัดประมาณ 35 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ตลอดลำน้ำปิงในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนอีกประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 63 ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 62/63 นี้ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ซึ่งจากการวิเคราะห์แผนการปลูกพืชฤดูแล้งและการอุปโภคบริโภค เห็นว่ามีความต้องการใช้น้ำรวมทุกกิจกรรมประมาณ 166 ล้าน ลบ.ม. สำนักงานชลประทานที่ 1 จึงได้พิจารณาจัดสรรน้ำจากน้ำต้นทุนจำนวน 2 แหล่ง คือเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จำนวน 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงอีก 96 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 166 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะเพียงพอสำหรับฤดูแล้งปี 2563

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำปิงตอนบน จะเริ่มทำการส่งน้ำรอบแรกระหว่างวันที่ 9 มกราคม – 1 กรกฎาคม 2563 จำนวน 25 รอบเวร ปริมาณการใช้น้ำ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้เงื่อนไข วันเสาร์และวันอาทิตย์ งดการใช้น้ำเพื่อส่งน้ำไปถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ยกเว้นเพื่อการอุปโภคบริโภค และผลิตน้ำประปาที่สามารถสูบได้ทุกวัน ส่วนวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. จะเปิดน้ำใช้พร้อมกัน ยกเว้นฝายแม่ปิงเก่า จะเปิดใช้เฉพาะวันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึง วันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. รวม 3 วัน เนื่องจากคลองส่งน้ำมีขนาดกว้างและยาว จึงต้องลดระยะเวลาการส่งน้ำลง เพื่อให้น้ำไหลไปถึงปลายคลองได้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ต้องขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นผู้กำกับดูแล ควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำในแต่ละจุด รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำขนาด 8 – 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว จำนวน 75 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ จำนวน 16 คัน รถสูบน้ำ จำนวน 2 คัน และรถขุดอีก 5 คัน ประจำการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้ง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. สายด่วน 1460

*********************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

4 ธันวาคม 2562