เตือน!! ตรวจสถานะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก่อนซื้อ ป้องกันตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์ปลอม

อย. เตือนระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไวท์เอสเซนส์ ไวท์เทนนิ่ง เดย์ ครีม และ ไวท์เอสเซนส์ ไวท์เทนนิ่ง ไนท์ ครีม หลังผู้บริโภคใช้แล้วเกิดอาการแพ้ ตรวจพบสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ 9 สิงหาคม 2561 แต่ยังมีการโฆษณาขายสินค้า และโอ้อวดสรรพคุณทางสื่อออนไลน์ ให้สังเกตผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตหลังวันดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม


นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 2 รายการ ได้แก่ ไวท์เอสเซนส์ ไวท์เทนนิ่ง เดย์ ครีม และ ไวท์เอสเซนส์ ไวท์เทนนิ่ง ไนท์ ครีม โดยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ได้ 2 เดือน และหยุดใช้ พบว่า มีอาการแพ้ มีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน จากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์ไวท์เอสเซนส์ ไวท์เทนนิ่ง เดย์ ครีม เลขที่ใบรับแจ้ง 1016010000535 และผลิตภัณฑ์ไวท์เอสเซนส์ ไวท์เทนนิ่ง ไนท์ ครีม เลขที่ใบรับแจ้ง 1016010000534 สถานประกอบการ เลขที่ 61 หมู่ 13 ตำบลมะค่า อำเภอกันทรชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสถานะใบรับจดแจ้ง คือ ยกเลิกและสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการดังกล่าวที่ระบุวันที่ผลิตหลังจากยกเลิกใบอนุญาตจะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ผู้ที่ขายจะมีโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบโฆษณาทางเฟซบุ๊กชื่อ Piyatida Tantaisong ที่ผู้ร้องเรียนแจ้ง พบข้อความแสดงสรรพคุณรักษาผิวหนัง ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ รอยสิว เป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการสั่งระงับการโฆษณา รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายกับผู้โฆษณาแล้ว

รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวต่อไปว่า อย. ขอเตือนผู้บริโภคขอให้ระมัดระวังการซื้อเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมักจะตรวจพบสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. หรือมีสารห้ามใช้ ผู้บริโภคอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายโดยคาดไม่ถึง ทางด้านผู้ผลิตและจำหน่าย ขอให้ประกอบการอย่างมีคุณธรรม อย่าเห็นแก่ผลกำไร หรือหลอกลวงผู้บริโภคไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม หาก อย. ตรวจพบ จะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสถานะเลข อย. ได้ด้วยตัวเองผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line : FDAthai, Oryor Smart Application, เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และเว็บไซต์ www.oryor.com หากพบเลขผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของ อย. หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

****************************