“น้ำบาดาล” นัด ทสจ. ทั่วประเทศร่วมถกแก้ปัญหาภารกิจด้านน้ำให้ประชาชน

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เชิญผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) 76 จังหวัด ร่วมพูดคุย แสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การขออนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล และการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เพื่อสื่อสารชี้แจงให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

สืบเนื่องจากรัฐบาลได้กำชับให้ทุกส่วนราชการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหา   ภัยแล้งอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร โดยประชาชนสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านระบบโทรศัพท์  0-2666-7000 กด 1 หรือ 09-5949-7000 ตั้งแต่เวลา 08.30-22.00 น. ทุกวัน จนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ภัยแล้ง หรือผ่านระบบขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งออนไลน์ทาง http://1310.dgr.go.th  ซึ่ง ทสจ. ทุกจังหวัดสามารถนำไปประชาสัมพันธ์เพื่อบอกต่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้

ส่วนเรื่องการประกอบกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้แจ้งให้ ทสจ. ทราบว่า มีการรวมแบบคำขอรับใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไว้ในคำขอเดียวกัน รวมทั้งปรับลดเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตจะต้องแนบมาพร้อมกับคำขอ รวมถึงยกเลิกการส่งผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำ หรือคำขอวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการอำนวยความสะดวก  และลดภาระให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้กล่าวถึงการเติมน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในหลายพื้นที่ว่า เป็นการนำน้ำที่เหลือใช้หรือช่วงที่ น้ำท่วมหลากเติมลงสู่ใต้ดินในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม หรือในพื้นที่ที่ต้องการเป็นการเก็บสะสมน้ำไว้ใช้ โดยฝากไว้ในใต้ดิน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และสามารถนำกลับมาใช้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลน และเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และหากมีการเติมน้ำใต้ดินในปริมาณมากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการลดลงของระดับน้ำบาดาลจากการใช้ที่เกินสมดุล แต่หลักการเติมน้ำลงใต้ดินสำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป ควรจะเป็นการเติมน้ำลงในชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น คือ ความลึกไม่เกิน 15 เมตรจากผิวดิน ตามสภาพพื้นดินแต่ละพื้นที่ คือ มีความลึก ความหนา  ความบางของชั้นดิน หิน กรวด ทรายที่ไม่เท่ากัน บางพื้นที่ก็สามารถระบายลงพื้นดินได้อย่างรวดเร็ว บางพื้นที่ก็ค่อยๆ ระบายลง และต้องระลึกไว้เสมอว่า ไม่ควรใช้ยางรถยนต์หรือขวดน้ำพลาสติกในการทำวัสดุกรอง เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการกรองลดลง ซึ่งสารแขวนลอยหรือสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมากับน้ำ อาจไม่ถูกกรองให้สะอาดพอ ส่งผลต่อการอุดตัน จนอาจทำให้เกิดผลเสียต่อชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น

สำหรับรูปแบบการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน มี 3 รูปแบบ คือ 1) ระบบเติมน้ำฝนจากหลังคาลงบ่อวงคอนกรีต 2) ระบบเติมน้ำผ่านบ่อวงคอนกรีต และ 3) ระบบเติมน้ำผ่านสระ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำคู่มือ และกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.dgr.go.th