กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี “อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” ตั้งเป้าขยายพื้นที่ต้นแบบครบทุกจังหวัดในปี 2564 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประกาศนโยบายการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีของประเทศไทย (Kick off Street Food Thailand) ภายใต้โครงการพัฒนาการจัดการอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ และสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย ณ ตลาดประมงท่าเรือพลี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน ทั้งในด้านสุขอนามัย และด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอาหารริมบาทวิถี ร้านค้า แผงลอย ที่ปัจจุบัน มักพบว่าประชาชนนิยมบริโภค เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย และมีราคาประหยัด ที่สำคัญอาหารริมบาทวิถีตาม แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมาบริโภค ซึ่งแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมของอาหารที่แตกต่างกัน
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีต้นแบบ 30 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายพื้นทีให้ครบทุกจังหวัดในปี 2564 โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและขยายพื้นที่ดำเนินการดังนี้ 1) ให้รักษามาตรฐานต้นแบบอาหารริมบาทวิถี โดยใช้ป้ายสัญลักษณ์ “อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ”(Street Food Thailand) ซึ่งได้พัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี 4 มิติ คือ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านวัฒนธรรม 2) ให้เพิ่มพื้นที่ในการจำหน่ายอาหารประเภทผัก ผลไม้ที่สะอาดปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าด้านโภชนาการ ใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร และส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอ 400 กรัมต่อวัน และ 3) ให้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขาภิบาลอาหาร เช่น การปกปิดอาหาร การสร้างต้นแบบของพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐาน โดยอาศัยระบบและกลไกในการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ในการจัดการพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา กรมอนามัย โดยสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีปลอดภัยสนับสนุนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยววิถีไทย เพื่อพัฒนาเป็นถนนอาหารริมบาทวิถีต้นแบบ (Model) ที่ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารในพื้นที่เป้าหมาย 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง และสงขลา มีการถอดบทเรียนศึกษาสถานการณ์และรูปแบบการจัดการอาหารริมบาทวิถีของแต่ละพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนารูปแบบและเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ให้ภาคีเครือข่ายพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีทั้ง 12 พื้นที่ จำนวน 3 รูปแบบ คือ 1) พื้นที่เฉพาะ 2) พื้นที่ปิดถนน และ 3) พื้นที่ไม่ปิดถนน รวมถึงพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี เพื่อนำไปทดลองใช้ในพื้นที่ ทั้งด้านความปลอดภัยอาหารและมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี และนำไปจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว โดยในปี 2562 นี้ จะขยายเป้าหมายใหม่อีก 18 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 30 จังหวัด
…………………………………………
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 1 ธันวาคม 2562