คณะองคมนตรี ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง ปี 62/63

คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ นายอำพน กิตติอำพน พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท พลอากาศเอกจอม รุ่งส่าวง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง ปี 62/63 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน เป็นต้น ณ ห้องธารทิพย์ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์ว่า ปัจจุบันทั้งประเทศ(28 พ.ย. 62)  มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 49,558  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65  ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,548  ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 มีอยู่ด้วยกัน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว ปริมาณน้ำที่มีอยู่เขื่อนเหล่านี้สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,700 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47  ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,004 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น

กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ไว้อย่างรัดกุม โดยภาพรวมทั่วประเทศจัดสรรไว้ปริมาณ 29,039 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะในช่วงเดือน พ.ย. 2562 – เม.ย. 2563 ได้จัดสรรน้ำไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งจะเน้นสนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ก่อนเป็นหลัก  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 11,340 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 63

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา รวมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บูรณาการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในเรื่องของสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง  จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้

**************************************************