สภาเกษตรกรฯ หนุนทำการเกษตรเชิงคู่ เพื่อเสริมรายได้ให้มั่นคง
นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึง การสร้างความมั่นคงของภาคการเกษตรว่า ภาคการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เมื่อผลผลิตออกมาเกินความต้องการของตลาดทำให้เกิดราคาตกต่ำจนเกษตรกรหลายคนถอดใจ สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกปาล์ม ยางพารามาหลายชั่วอายุคนปัญหาคือ เมื่อถึงรุ่น 2 – 3 ดินเสื่อมคุณภาพ การปลูกหนาแน่นเกินไปแดดส่องไม่ทั่วถึงเกิดโรคระบาดเยอะ อย่างไรก็ตาม ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิยมบริโภคเนื้อแพะ/แกะ มีความต้องการแพะ/แกะอย่างมาก การตลาดยังเปิดกว้าง ปัจจุบันมาเลเซียสั่งนำเข้าแพะ/แกะจากประเทศออสเตรเลียซึ่งมาไกล เมื่อเทียบกับแพะ/แกะจากประเทศไทยคุณภาพดีกว่า จึงเกิดแนวคิดการทำเกษตรเชิงคู่เพื่อเสริมรายได้ซึ่งกันและกันด้วยการจัดการสวนยางปลูกระยะห่างอย่างเหมาะสม โดยปรับเปลี่ยนภายใต้ระเบียบของกยท. สวนปาล์มก็เช่นกันขยายจากการปลูกแบบ 9X9 เมตร ขยายเป็น 10X10 – 12X12 เมตร วางแปลนโครงสร้างสวน แล้วปล่อยแพะ/แกะเพื่อเป็นเครื่องตัดหญ้า มูลแพะ/แกะนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงได้ แพะ/แกะกินอยู่ง่ายสามารถเลี้ยงควบคู่ได้ทั้งการทำสวนปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น โดยเกษตรกรต้องศึกษาเทคนิคในการเลี้ยงโดยเฉพาะแบบเปิด แพะ/แกะสามารถขายได้ทุกเดือนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอายุที่เหมาะสมในการขายคือ 8 เดือน แพะ/แกะที่หลุดสเปคหรือแพะ/แกะที่ปลดระวางราคาอาจลดลงก็สามารถจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นหรือตามเมืองท่องเที่ยว เช่น พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย ก็มีความต้องการบริโภคเช่นกัน
“สภาเกษตรกรฯอยากให้เกษตรกรสามารถกำหนดการผลิต การตลาดและราคาได้เอง เราสนับสนุนให้เกษตรกรยืนอยู่บนขาและพึ่งพาตัวเองด้วยการทำการเกษตรอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ได้นำเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ภาคใต้ทำบันทึกข้อตกลงการซื้อ-ขายกับภาคเอกชนจากประเทศมาเลเซีย ตกลงซื้อแพะและแกะมีชีวิต น้ำหนัก 25-40 กิโลกรัม/ตัว ในราคา 135 บาท / กิโลกรัม ต่อเดือนส่งขายไม่ต่ำกว่า 150 ตัว และสามารถขยับยอดขายได้ 2,000-3,000 ตัว/เดือน ซึ่งทางประเทศมาเลเซียยินดีขยายตลาดไปยังประเทศกาตาร์และประเทศอื่นที่มีชาวมุสลิมให้ด้วย ” นายสิทธิพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 การรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีเกษตรกรรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงแพะ/แกะภาคใต้รวม 44 กลุ่ม สมาชิก 2,453 คน หากเกษตรกรมีความต้องการทำการเกษตรเชิงคู่ หรือสนใจการเลี้ยงแพะ/แกะเป็นส่วนเสริมรายได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
******************************************************