กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพของท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการประชุมการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “EHA Forum 2019 : Green for All” โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชมรมอนามัย สิ่งแวดล้อมไทย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและภูมิภาคกรมอนามัยรวม 760 คน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบายการส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) 5 ข้อ ดังนี้ 1) มุ่งเน้นการส่งเสริมการออกกำลังกาย ด้วยการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่และสื่อสารไปประชาชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การออกกำลังกายระดับประเทศ 2) การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดดี การเรียนรู้ดี มีความพร้อมทุกด้าน และเป็นกำลังสำคัญของประเทศ 3) การยกระดับอาหารริมทาง (Street Food) ให้ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารระดับสากลเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านท่องเที่ยวของประเทศให้สูงขึ้น 4) การขับเคลื่อนโปรแกรม 10 Package ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในสถานประกอบการ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ เชิงรุก บูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี และ 5) การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยขับเคลื่อนงานเพื่อลดภาระ ทำงานง่าย ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ สามารถสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน โดยได้วางระบบการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ท้องถิ่นจัดบริการเองและควบคุมผู้ประกอบกิจการต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน อาทิ การจัดการด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ สถานที่จำหน่ายอาหารต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงด้านสุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ผ่านเกณฑ์ Clean Food Good Taste, ตลาดสดและตลาดนัดต้องได้มาตรฐานทางด้านกายภาพ อาหารปลอดภัย และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการจัดบริการและการส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย เตรียมความพร้อมตั้งแต่เกิด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดูแลด้านโภชนาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองและการเจริญเติบโต และเมื่อถึงที่ทำงานต้องได้รับบริการที่เสริมสุขภาพ เช่น Healthy Canteen และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอนามัยมุ่งเน้นที่จะลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จากการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวของสังคม ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำหลักการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม (EHA : Environmental Health Accreditation) ปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบ มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2562 นี้ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครเข้าร่วมพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม 1,015 แห่ง และผ่านการประเมินคุณภาพระดับเกียรติบัตรรับรอง 467 แห่ง ระดับพื้นฐาน 490 แห่ง
“ทั้งนี้ การจัดบริการสาธารณสุขด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพของท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนและดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย เพื่อประชาชนได้อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ชีวีมีสุข รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจ และความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
**********************************************