ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่าหลังการประชุมหารือกับผู้บริหารหน่วยงานในกำกับและเครือข่าย ว่าได้มีความเห็นร่วมกันในการวางแผนพัฒนาเดินหน้าขับเคลื่อนงานตามนโยบายของ กศน. สช.และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม 4 โครงการใหญ่ เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับ พัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งบูรณาการจัดการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เกิดประโยชน์กับบุคลากรและประชาชนทุกช่วงวัยอย่างคุ้มค่าสูงสุด ในการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริม สนับสนุนโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึง ความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างแท้จริง
โดยโครงการใหญ่ที่เตรียมเดินหน้า ในโครงการแรก คือ 1 การพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเกิดจากความร่วมมือจาก 5 ภาคีเครือข่ายหลัก ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 20 แห่งในสังกัดสำนักงาน กศน. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์ระดับภูมิภาคฯว่าด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEAMEO Regional Center for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) และศูนย์ระดับภูมิภาค ว่าด้วยสะเต็มศึกษา (SEAMEO Regional Center for STEM Education ) โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงพื้นที่บริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างการรับรู้และตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีต่อคุณภาพชีวิต และส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยสำหรับเยาวชน และประชาชนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการบูรณาการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมให้แก่บุคลากรของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และทรัพยากร ความเชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่ามากที่สุด
โครงการที่ 2 คือ การจัดตั้ง โค-เลิร์นนิ่งสเปซ (Co – Learning Space) ในห้องสมุดหรือศูนย์การเรียน 6 แห่ง ทุกภูมิภาค โดยพัฒนารูปแบบจากเดิมเป็น Active Learning Center ด้วยการจัดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้ามาใช้บริการในรูปแบบต่างๆ กำหนดองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 ส่วน คือ (1) จัดมุม Electronic Library หรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ มี E – book ให้บริการ (2) มุมบริการคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เนต การเรียนการสอนออนไลน์ และ (3) เปิดเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน ที่ต้องการพัฒนาโซลูชันส์ในการบริหารจัดการ โดยเชื่อมโลกการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
โครงการที่ (3) การอบรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหารโรงเรียนเอกชน (นบช.ศธ.) เทียบเท่าหลักสูตรระดับสูงของหน่วยงานอื่นๆโดยเริ่มประมาณเดือนมีนาคม – เดือนเมษายน 2563 เป็นการจัดหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารการศึกษาเอกชนระดับสูง ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบส.) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา นอกจากนี้จะจัดให้มีการอบรมและพัฒนาครูเอกชน ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบส.) และจัดในระดับภูมิภาคอีก 18 แห่งทั่วประเทศ
และ โครงการที่ (4) คือ การอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ ซึ่งจะเริ่มเปิดการอบรมนำร่อง 8 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 – 7 กุมภาพันธ์ 2563 จังหวัดละ 60 คน รวม 480 คน ได้แก่ ปราจีนบุรี พัทลุง เชียงใหม่ เลย สุโขทัย บุรีรัมย์ อยุธยา และนครราชสีมา หลังจากนั้นจะจัดอบรมเพิ่มเติมทั่วประเทศอีก 69 จังหวัด รวม 4,140 คนกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ ในสังกัด สพฐ. กศน. อาชีวะศึกษา โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนเทศบาล
ดร.กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตนเชื่อว่า โครงการดังกล่าว จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถ พัฒนาและยกระดับการศึกษาไทยตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และพร้อมดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและพลิกโฉมการศึกษาไทยเพื่อสร้างโอกาสและคุณภาพให้คลอบคลุมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” รมช.ศธ.กล่าว!!
#ข่าว: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ, กรรณิกา พันธ์คลอง
#ภาพ: กิตติกร แซ่หมู่ ,ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า