กรุงเทพฯ 23 มีนาคม 2561- สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เผยปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา มีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่สามารถประกอบธุรกิจได้จริงแล้วกว่า 1,500 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80 % จากปีก่อน และมีมูลค่าทรัพย์สินในตลาดรวมกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 53,000 ล้านบาท พร้อมเผย 6 กลุ่มสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2561 ได้แก่ สตาร์ทอัพด้าน E-Commerce ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 2.81 ล้านล้าน บาท เติบโตขึ้นจากปี 2559 ถึง 9.86 % ตามด้วยสตาร์ทอัพด้าน FinTech สตาร์ทอัพด้าน AgriTech สตาร์ทอัพด้าน EdTech สตาร์ทอัพด้าน E-Service และสตาร์ทอัพด้าน Internet of Things : IoT อย่างไรก็ตามจากการเติบโตขึ้น NEA จึงได้เดินหน้าพัฒนากว่า 150 กิจกรรม ภายใต้ 5 หลักสูตร เพื่อสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการและกลุ่มสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ในยุคดิจิทัล อาทิ หลักสูตร New Economy Amplifier หลักสูตร New Economy Foundation ซึ่งได้ตั้งเป้าผลักดันให้ผู้ประกอบการ และผู้มีความต้องการดำเนินธุรกิจใหม่เข้าร่วมกิจกรรมให้ได้มากกว่า 100,000 ราย
สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 02 507 7999 หรือ www.nea.ditp.go.th , facebook.com/nea.ditp
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันให้มาตรการการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจเริ่มต้น เป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่ง เนื่องจากการเกิดขึ้นของกลุ่มดังกล่าวเป็นทั้งฐานของการจ้างงาน การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นโอกาสในการเข้าถึงช่องทางตลาดใหม่ๆในโลกธุรกิจและผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา อันประกอบไปด้วย ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจ สู่การเป็น Trading Nation
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การใช้อาเซียนเป็นฐานไปสู่เวทีโลก (ASEANOne)
ยุทธศาสตร์ที่ 3: การส่งเสริมธุรกิจให้เข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่า (Value Creation Economy)
ยุทธศาสตร์ที่ 4: ส่งเสริมธุรกิจบริการที่สอดคล้องกับ Global New Demand
ยุทธศาสตร์ที่ 5: การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (New Trade Infrastructure)
โดยทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคาดว่าจะสามารถ แก้ปัญหาที่สำคัญ อาทิ ปัญหาบุคคลากรด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทักษะในการสร้างธุรกิจใหม่ที่มีนวัตกรรมที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาสตาร์ทอัพในขณะนี้
ด้าน นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เปิดเผยว่า ในช่วงระยะปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา มีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไทยที่สามารถประกอบธุรกิจได้จริงแล้วกว่า 1,500 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80 % จากปีก่อน และมีมูลค่าทรัพย์สินในตลาดรวมกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 53,000 ล้านบาท (ที่มา:สมาคม Thai Tech Startup) และสำหรับในปี 2561 ยังพบอีกว่า การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น โดยมีกลุ่มที่น่าจับตา ได้แก่
- E-Commerce หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2560 ขนาดตลาดอีคอมเมิร์ชทั่วโลกขยายตัวและมีมูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 10.1% ของขนาดตลาดค้าปลีกทั้งหมด (ที่มา : E-commerce DHL) และในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.81 ล้านล้านบาท โดยเติบโตขึ้นจากปี 2559 ถึง 9.86 % สำหรับกิจกรรมที่มีมูลค่า E-Commerce สูงสุดในประเทศไทย ได้แก่ การค้าปลีกและการค้าส่ง การให้บริการที่พัก และการผลิต (ที่มา: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) นอกจากนี้ ภายในปี 2564 ยังมีการคาดการณ์ไว้อีกว่าตลาด E-Commerce ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 148
ล้านล้านบาท
- FinTech หรือ Financial Technology เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเงิน ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการจัดการ
ด้านการเงินและช่วยเหลือการเงิน พร้อมทั้งแก้ปัญหาตั้งแต่การรับชำระเงิน การลงทุน การจัดการด้านการกำกับดูแล ฯลฯ โดยในปีที่ผ่านมามีตัวเลขการเติบโตกว่า 954,798.58 ล้านบาท (ที่มา:สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์)
- AgriTech หรือ เทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีทรัพยากรทางการเกษตรมากอย่างประเทศไทย โดยมีตัวอย่าง อาทิ ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพ โดรนเพื่อการเกษตร อุปกรณ์ทำงานแทนทนุษย์
การทำเกษตรแนวใหม่ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีตัวเลขการเติบโตกว่า 151,302 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2561จะมีการเติบโตกว่า 182,226 ล้านบาท
- EdTech หรือ เทคโนโลยีการสอน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
แบบ On-Demand ให้เข้าถึงได้ทุกที่ และยังมีสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น ซึ่งทำให้กิจกรรมในด้านดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม EdTech ควรได้รับการสนับสนุนและผลักดันให้มากกว่าที่มีอยู่ เนื่องจากตลาดแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษานั้นยังมีช่องว่างอยู่มาก ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรเข้ามาร่วมลงทุนในส่วนนี้เป็นอย่างยิ่ง
- E-Service หรือ บริการออนไลน์ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว เช่น การสมัครบริการของค่ายมือถือผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ บริการซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านผ่านอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตในธุรกิจดังกล่าวในปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 9,622 ล้านบาท โดยดาดว่าในปี 60 จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีกกว่า 11,280 ล้านบาท
- Internet of Things : IoT หรือ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมโยงสิ่งของหรือ อุปกรณ์ เช่น บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าให้สามารถเชื่อมต่อและควบคุมได้ระยะไกลผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ บนอินเทอร์เน็ต สำหรับในปีที่ผ่านมา มูลค่าของ IoT อยู่ที่ 50,946 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีนี้ธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตขึ้นอีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในปี 2561 นี้ NEA ได้มุ่งเน้นในการเร่งส่งเสริม การสร้างกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ กลุ่มธุรกิจเริ่มต้น ตลอดจนผู้ประกอบการในทุกระดับ ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนากิจกรรมและโครงการฝึกอบบรมภายใต้กรอบเนื้อหาใน 5 หลักสูตร รวมกว่า 150 กิจกรรม อันประกอบไปด้วย หลักสูตร New Economy Amplifier ซึ่งเป็นหลักสูตร เตรียมความพร้อมในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการในด้านการดำเนินธุรกิจและการค้ายุคใหม่พร้อมกระจายองค์ความรู้ไปยังทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างทั่วถึง หลักสูตร New Economy Foundation หลักสูตรที่จะเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการมือใหม่ โดยจะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดต่างประเทศและการทำธุรกิจต่อยอดสู่การค้าแบบ E-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เตรียมเติบโตในตลาดโลก หลักสูตร New Economy Driver หลักสูตรขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
รวมไปถึง หลักสูตร New Economy Connector หลักสูตรสร้างเครือข่ายการค้าสำหรับผู้บริหาร ซึ่งจะสร้างเวทีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างบุคลากรชั้นนำทั้งภาครัฐ และเอกชนตามความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มภูมิภาค และ หลักสูตร IT 4 SME (E-Business) หลักสูตรสำคัญในยุคที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจโดยหลักสูตรจะส่งเสริมสร้างองค์ความรู้ด้าน IT ให้กับผู้ประกอบการ SME ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยทักษะด้าน E-Business รวมไปถึงความเข้าใจในธุรกิจ และกระบวนการต่างๆ ซึ่งทั้ง 5 หลักสูตรตั้งเป้าไว้ว่าจะผลักดันให้ผู้ประกอบการ และผู้มีความต้องการดำเนินธุรกิจใหม่เข้าร่วมกิจกรรมให้ได้มากกว่า 100,000 ราย นอกจากนี้ ล่าสุด NEA สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบ่มเพาะและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการจึงได้ทำความตกลงร่วมกับ KX Consulting Enterprise (Knowledge Exchange) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคการศึกษา ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ซึ่งมีเป้าหมายในการนำความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการทำความตกลงร่วมกันครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายที่ NEA และ KX จะรวมการสร้างระบบนิเวศ(Eco-System) เพื่อสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพสัญชาติไทย นายพรวิช กล่าวสรุป
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ได้จัดโครงการเสวนาเพื่อผู้ประกอบการยุคใหม่ “NEA Startup 101” โดยมีกิจกรรมให้ความรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสตาร์ทอัพ อาทิ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO Shopee คุณอธิป ตันติวรวงศ์ ผู้มีประสบการณ์ด้าน Startup จากสถาบัน Harvard และ ดร.โกศล ทรัพย์ประเสริฐ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ใน กิจกรรมเสวนา “สตาร์ทอัพสตาร์ทเลย” สัมมนา “Venture Capital” คืออย่างไร พร้อมด้วยการลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ และ KX (Knowledge Exchange) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ณ ห้องสัมมนา 4 (ออดิทอเรียม) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 02 507 7999 หรือ www.nea.ditp.go.th , facebook.com/nea.ditp