กรมพัฒนาที่ดิน โดย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เปิดเป็นทางการ ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอนุรักษ์ดินและน้ำกุดรัง บนเนื้อที่กว่า 770 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.10 บ้านโสกขุ่น ต.กุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัย ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำ ศูนย์ปรับปรุงดิน และศูนย์ฟื้นฟูดิน บทบาทที่สำคัญคือผลิตเมล็ดพันธุ์หลักที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาดินทรายที่มีความแห้งแล้งสูง ในเขตอีสานตอนบน
เมื่อวันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ” ซึ่งดำเนินการโดย กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 โดยมีบทบาทหน้าที่ ดังนี้ 1) ผลิตและจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดและพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำที่มีคุณภาพสำหรับเกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนงานด้านการวิจัย 2) ศึกษา วิจัยพันธุ์พืชปุ๋ยสด และพืชเพื่ออนุรักดินและน้ำ และพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พืชปุ๋ยสดและพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ 3) รวบรวมงานด้านพืชปุ๋ยสดและพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ 4) ทดสอบและสาธิต เทคโนโลยีด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ และเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชปุ๋ยสดและพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่เกษตรกร ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดินที่เป็นดินเฉพาะพื้นที่ของภาคอีสาน กล่าวคือเป็นดินทรายที่มีความแห้งแล้งสูง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ของตน เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับพี่น้องเกษตรกร โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์ต้นแบบแห่งแรก ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า … “ศูนย์กุดรังแห่งนี้ จัดตั้งขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ. 2508 ก่อนนี้ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพืชอาหารสัตว์ ที่เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่ดินทรายแห่งนี้ และได้พัฒนามาศึกษาพืชคลุมดิน หรือพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยมีทั้งพืชตระกูลหญ้า หรือพืชตระกูลถั่ว ปัจจุบันได้ฟื้นฟูศูนย์นี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเน้นพืชตระกูลถั่วเป็นหลัก อาทิ คาโลโปโกเนียม ซีรูเลียม หญ้ารูซี่ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการปรับปรงบำรุงดิน บทบาทสำคัญของศูนย์แห่งนี้ คือ ผลิตเมล็ดพันธุ์หลักที่มีคุณภาพส่งต่อให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย และผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่ายต่อไป (เพื่อให้มีปริมาณเมล็ดพันธุ์ในปริมาณมากขึ้นๆ) สามารถนำไปสนับสนุนหรือแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ในโครงการของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการผลิตเมล็ดพันธุ์หลักที่มีคุณภาพ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เฉพาะของภาคอีสาน คือเป็นดินทรายที่มีความแห้งแล้งสูง โดยในอนาคต ได้มอบหมายให้นักวิชาการเกษตรเข้ามาดำเนินการศึกษาในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ซึ่งศูนย์นี้จะเป็นทั้งศูนย์ศึกษา ศูนย์วิจัย ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำ ศูนย์ปรับปรุงดิน ศูนย์ฟื้นฟูดิน เป็นศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ผู้สนใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”
*******************************************