โรคใบร่วงในยางพารา กระทบพื้นที่กว่า 360,000 ไร่ เกษตรกรนราธิวาส-ตรัง สูญรายได้กว่า 253 ล้านบาท

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา ในเขตพื้นที่ปลูกยางพาราภาคใต้ตอนล่างของประเทศว่า การยางแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงถึงลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบยางพารา ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกันกับการรายงานของประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ หรือ IRRDB (อินโดนีเซีย มาเลเซีย และศรีลังกา) คือ เป็นลักษณะอาการใบร่วงที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของน้ำยาง ทำให้ผลผลิตลดลงกว่าร้อยละ 30 – 50 โดยส่วนใหญ่จะพบในพันธุ์ยาง RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311

จากสถานการณ์ดังกล่าว สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมติดตาม ตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ พบว่า ขณะนี้มีการระบาดของโรคดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดตรัง รวม 365,883 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 17 ของเนื้อที่กรีดได้ (ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562) แบ่งเป็น จังหวัดนราธิวาส  12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ยี่งอ รือเสาะ เจาะไอร้อง จะแนะ สุคิริน แว้ง ระแงะ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก ศรีสาคร และตากใบ รวมพื้นที่ 365,483 ไร่  ส่วนจังหวัดตรัง พบการระบาดเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองตรัง รวม 400 ไร่

หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดในยางพาราของจังหวัดนราธิวาสและตรัง พบว่า จำนวนพื้นที่ระบาด 365,883 ไร่ของทั้ง 2 จังหวัด จะคิดเป็นปริมาณผลผลิตทั้งปี รวม 93,305 ตัน ซึ่งหากผลผลิตลดลง ร้อยละ 30 – 50 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 จะส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ในภาพรวม คิดเป็นมูลค่า 253 – 423 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยเดือนละ 126 – 211  ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคได้ จะทำให้ผลผลิตของ 2 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากผลผลิตลดลงทั้งปี 2563 ประมาณ 27,991 – 46,652 ตัน และอาจส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ในภาพรวม คิดเป็นมูลค่า 1,255 – 2,093 ล้านบาทต่อปี หรือ เฉลี่ยเดือนละ 104 – 174 ล้านบาท

ผลกระทบทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา

ที่มา : จากการคำนวณของศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร

เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า การเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดเป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำคำแนะนำการป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างออกสำรวจ ติดตามพื้นที่การระบาด พร้อมให้คำแนะนำ ป้องกัน ให้ความรู้ พร้อมรายงานข้อมูลให้รับทราบต่อเนื่อง นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศและกรมวิชาการ ได้มีการนำร่องทดสอบการใช้โดรนพ่นสารกำจัดเชื้อราเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคใบร่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก เชื้อรา Pestalotiopsis sp. แพร่ระบาดโดยลมและฝน จึงค่อนข้างยากต่อการป้องกันและควบคุม ดังนั้น ขอให้เกษตรกรระมัดระวังหรืองดการเคลื่อนย้ายวัสดุปลูกและใบยางพาราโดยเฉพาะจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไปสู่พื้นที่อื่น และสำหรับต้นยางพาราที่พบว่าเป็นโรคใบร่วงระยะรุนแรง ให้เกษตรกรใช้สารเคมีโดยวิธีฉีดพ่นลงดินด้วยสาร thiophanate methyl และพ่นทรงพุ่มยางด้วยสาร benomyl, hexaconazole, thiophanate methyl, triadimefon และ difenoconazole เพื่อกำจัดเชื้อ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่ป้องกันการระบาดเพิ่ม โดยกันพื้นที่เป็นแนวป้องกัน (Buffer Zone) ทั้งนี้ สศก. จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเกษตรกรพบข้อสงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคในพื้นที่ หรือต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดการระบาดและคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยในจังหวัดที่ท่านทำสวนยางอยู่

……………………………………………………

ข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา