สศก. ยกระดับฐานข้อมูลยางพารา จับมือ กยท. MOU เชื่อมสู่ Big Data ให้เป็นเอกภาพ

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศยางพาราในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือและบูรณาการด้านวิชาการ สู่การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นเอกภาพ และเกิดความเข้มแข็งของภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

สำหรับการความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการจัดทำ Big Data กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีภารกิจหลักในการจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ศึกษา วิจัย ประเมินผล และเสนอแนะมาตรการ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนข้อมูลต่างๆ แก่ กยท. ทั้งด้านนโยบายของรัฐบาล  สถานการณ์การผลิต และการตลาดยางพารา เช่น ต้นทุน ผลตอบแทน ราคาที่เกษตรกรขายได้  รวมไปถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เช่น เนื้อที่ยืนต้น โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร พื้นที่ความเหมาะสมในการปลูกยาง นอกจากนี้ ยังพร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านสถิติ เศรษฐศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการวิจัย และสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการจัดทำประมวลผลข้อมูล ตลอดจนการจัดกิจกรรมต่างๆ ทางด้านวิชาการร่วมกัน

ด้านนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลด้านสถิติ เศรษฐศาสตร์ เกษตรกรรม ภูมิสารสนเทศ ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญ ซึ่งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่รวดเร็ว ทันสมัย และถูกต้อง จะช่วยในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนด้านข้อมูลได้เป็นอย่างมาก ซึ่ง กยท. ในฐานะเป็นองค์กรที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ และดำเนินการบริหารจัดการราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ บริหารจัดการเกี่ยวกับเงินกองทุนพัฒนายางพารา ส่งเสริม สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการด้านยางพารา จึงมีความพร้อมและยินดีให้การสนับสนุนข้อมูลร่วมกับ สศก. ทุกด้าน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ รวมไปถึงเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับการยกระดับความร่วมมือของ สศก. และ กยท. ในครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงให้กับภาคเกษตร โดยพร้อมนำความรู้จากการศึกษา วิจัย ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพในการผลิต สามารถยกระดับรายได้และอาชีพให้มั่นคง  ส่งผลภาคให้เกษตรไทยมีความเข้มแข็งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรได้ทั้งในประเทศไทยและในเวทีสากล

********************************************************