นางวรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงอาคารสำนักบริหารเงินตรา โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคาร ภูมิทัศน์ภายนอกและระบบต่าง ๆ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สวยงาม และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ประกอบการจัดแสดง ภายใต้แนวความคิด “วิถีแห่งเงินตรา สินล้ำค่าของแผ่นดิน” โดยตระหนักถึงความสำคัญของผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และชาวต่างชาติ จึงนำแนวคิดอารยสถาปัตย์ หรือการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) มาใช้ประกอบการออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ เช่น พื้นที่สำหรับผู้ใช้รถเข็น คำบรรยายอักษรเบรลล์ นับเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะด้านเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์และเงินตราสำหรับผู้ที่สนใจ นักสะสม และประชาชนทั่วไป โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยจัดแสดงเงินตราโบราณ เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก เงินตราต่างประเทศ และเผยแพร่ภารกิจของกรมธนารักษ์ด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์ การอนุรักษ์เงินตราโบราณ และเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะด้านเหรียญกษาปณ์และเงินตราสำหรับผู้สนใจ นักสะสม เยาวชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) สำหรับนักสะสมเหรียญและผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนการจัดนิทรรศการ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์
ภายในพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ มีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร และนิทรรศการชั่วคราว โดยมีจุดเด่น ดังนี้
ชั้น ๑ นิทรรศการถาวร
ห้องปฐมบทแห่งเงินตรา จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเงินตรา จุดเริ่มต้นการนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนแปรเปลี่ยนสู่การใช้สื่อกลาง และปรับวัสดุของสื่อกลางเป็นโลหะ เพื่อความสะดวกและคงทนต่อการใช้จ่าย โดยเรื่องราวทั้งหมดได้บอกเล่าผ่านแอนิเมชั่น ๔ มิติที่ฉายบนผนังถ้ำ ด้วยมุมมอง ๓๖๐ องศา
ห้องเส้นทางวิวัฒนาการเงินตรา จัดแสดงวิวัฒนาการของสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนตามแต่ละพื้นที่ จำลองบรรยากาศป่า ธรรมชาติ และสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เช่น หนังสัตว์ ใบชา เกลือแท่ง และเมล็ดโกโก้
นิทรรศการชั่วคราว ได้แก่ นิทรรศการเรื่องเงินตรารัตนโกสินทร์และ นิทรรศการสืบราชย์ สานพระราชปณิธาน
ชั้น ๒ นิทรรศการถาวร
ห้องนานาอาณาจักรเหรียญ จัดแสดงเหรียญโบราณที่มีการใช้ในชุมชนแรกเริ่มที่ปรากฏในพื้นที่ประเทศไทย หรือดินแดนสุวรรณภูมิ มีการจัดแสดงเหรียญอาณาจักรฟูนัน ทวารวดี ลพบุรี และศรีวิชัย พร้อมจำลองบรรยากาศ แต่ละสมัยผ่านการฉาย Projector และเทคโนโลยี 4D โดยจัดแสดงเหรียญจริงในบรรยากาศการจำลอง
ห้องเริ่มต้นอาณาจักรไทย นำเสนอเรื่องราวการใช้เงินตราในสมัยสุโขทัย และอยุธยา โดยเล่าเรื่องราวของการใช้เงินพดด้วงในแต่ละสมัยผ่านการจำลองบรรยากาศตลาดการค้าโบราณ จัดแสดงเงินพดด้วง ตราสัญลักษณ์บนเงินพดด้วง ในสมัยสุโขทัย จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงเงินตราร่วมสมัยในอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และเงินตรา ทางภาคใต้ โดยมีเหรียญที่เป็นไฮไลท์ เช่น พดด้วงทองคำตราพระมหามงกุฎ – พระแสงจักร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกสำหรับพระราชทานในโอกาสสำคัญ สร้างหลังจากเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ,เหรียญกษาปณ์ทองคำ ทศ พิศ พัดดึงส์ สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาทองคำล้นระบบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำทองคำมาผลิตเป็นเหรียญกษาปณ์ทองคำ และนำออกใช้หมุนเวียนชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตลอดจนค้าขายกับ ชาวต่างประเทศได้จริงควบคู่ไปกับเหรียญกษาปณ์เงินที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยมี ๓ ชนิด ราคา คือ เหรียญทองทศ พิศ พัดดึงส์
ห้องกษาปณ์รัตนโกสินทร์ จัดแสดงเงินตราที่ผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๙ นำเสนอความเฟื่องฟูทางการค้าและระบบเงินตราที่นำไปสู่ความเป็นอารยะแห่งประเทศสยาม เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเงินพดด้วง สู่เหรียญกษาปณ์ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของนวัตกรรมการผลิตเหรียญของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมี เหรียญที่เป็นไฮไลท์ เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระมหามงกุฎ – กรุงสยาม หรือ “เหรียญแต้เม้ง” , เหรียญเงิน ตราพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน , พดด้วงตราพระแสงจักร – จุลมงกุฎ – ช่อรำเพย
ห้องเหรียญนานาชาติ จัดแสดงเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในรูปแบบที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ การบอกเล่าเรื่องราวของเหรียญผ่านสัญลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ และเหตุการณ์สำคัญ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Global Touch screen หรือจอทรัชสกรีนทรงกลมขนาดใหญ่ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเงินตราที่ใช้ในแต่ละประเทศ โดยมีเหรียญที่เป็นไฮไลท์ เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก Elements of Life: Cheetah DNA Coin เป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสกัด DNA ของเสือชีต้าห์ มาไว้ในหลอดแก้วขนาดเล็กบนหน้าเหรียญ โดย DNA ต้นแบบเป็นของ “Abay” เสือชีต้าห์แสนเชื่องประจำสวนสัตว์ Brunswick สาธารณรัฐคองโก, เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก Chondrite Impact – Meteorite NWA 4037 สร้างเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์อุกกาบาต NWA 4037 เป็นอุกกาบาตที่ตกลงมาเมื่อ พ.ศ. 2548 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา (NWA) มีการฝังชิ้นส่วนของอุกกาบาตลงบนเหรียญและออกแบบให้มีลักษณะเว้า ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการผลิตเหรียญ และเหรียญกษาปณ์ ที่ระลึก Seven New Wonders of the World เป็นเหรียญกษาปณ์ทรงกลม ผลิตโดยโรงกษาปณ์โปแลนด์ ใช้เทคนิคพิเศษสร้างลวดลายแผนที่สมัยโบราณโดยรอบ ประดับด้วยคริสตัล Swarovski จำนวน ๗ เม็ด แสดงตำแหน่งที่ตั้ง ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกนอกจากนี้ยังมี ห้องเหรียญกับสังคมไทย ห้องรู้รอบเหรียญ และห้องร้อยเรียงเรื่องเงินตรา
ชั้น ๓ นิทรรศการถาวร
ห้องวัฒนากษาปณ์ไทย จัดแสดงเหรียญที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่กรมธนารักษ์จัดสร้างขึ้นในวาระโอกาสต่าง ๆ ประกอบด้วย เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ โดยมีเหรียญที่เป็นไฮไลท์ เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเสด็จนิวัตพระนคร ซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเหรียญแรกแห่งสมัยรัชกาลที่ ๙, เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกช้างไทย กรมธนารักษ์ได้จัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรม
ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์ช้างป่า โดยเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกรุ่นแรกที่เปิดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ
พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ตั้งอยู่ ณ ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการวันอังคาร – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์ ช่วงเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์) ประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าชมฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๒ ๐๘๑๘ โทรสาร ๐ ๒๒๘๑ ๐๓๕๒ เว็บไซต์ http:// emuseum.treasury.go.th เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/coinmuseumthailand
********************************************************